ศาลฎีกายกฟ้อง 5 ตร.อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง 5 ตร.อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 ด้านนางอังคณา ในฐานะภรรยา ลั่น ขอไว้อาลัยให้กับกระบวนการยุติธรรม พร้อมระบุเสียใจ ชี้ไทยควรเร่งลงนามสัตยาบรรณอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ แล้วก็จะต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหายต่อไป

เมื่อวันอังคาร (29 ธันวาคม) ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่พนักงานอัยการ และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย และบุตรรวม 5 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม ซึ่งศาลจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งว่าเป็นบุคคลสาบสูญ, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 46 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 44 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท., ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 49 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ดำรงตำแหน่ง พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ ผกก.ฝอ.สพ. จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 391 กรณีเมื่อวันที่ 12 มี.ค.47 จำเลย ร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชาย ผู้เสียหายซึ่งหายตัวไป และลักทรัพย์เอารถยนต์ หมายเลขทะเบียน ภง 6768 กรุงเทพฯ, นาฬิกาโรเล็กซ์ และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 903,460 บาท โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากตัวนายสมชาย ให้เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้า แล้วจับตัวพาไปซึ่งจนถึงขณะนี้ ไม่ทราบว่า นายสมชาย จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ศาลชั้นต้น พิพากษาให้ จำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2-5 พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชาย ถูกทำร้ายหรือกระทำการต่อชีวิตที่จะได้รับบาดเจ็บหรือจนกระทั่งเสียชีวิตจนไม่สามารถจัดการเองได้

ดังนั้น นางอังคณา ภรรยาและบุตรของนายสมชาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายจัดการแทน ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลเห็นว่า โจทก์นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยทั้งห้าว่า สืบเนื่องจากนายสมชายได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับความมั่นคงกับกลุ่มผู้ต้องหา 5 ราย ในเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืน และก่อเหตุความไม่สงบภาคใต้เมื่อปี 2547 โดยนายสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อ ผบ.ตร. กรณีที่ผู้ต้องหาระบุว่า ถูกพวกทำร้ายร่างกายเพื่อกลับคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้พบหรือเคยเห็นนายสมชายมาก่อน ขณะที่การทำหนังสือร้องเรียนนั้นก็ฟังได้ว่านายสมชายไม่ใช่ผู้ลงชื่อในหนังสือโดยตรง ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าพวกจำเลยจะรู้ว่านายสมชายเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน ขณะที่พยานบุคคล 5 ปาก ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เห็นนายสมชายเป็นครั้งสุดท้ายบริเวณ ถ.รามคำแหง แม้เป็นประจักษ์พยาน แต่คำให้การในชั้นสอบสวนในหลายประเด็นยังมีข้อพิรุธขัดแย้งกับความเป็นจริง และคำเบิกความในชั้นศาลทั้งในเรื่องความสว่างของแสงไฟ ระยะการมองเห็นห่างสามสิบเมตร ซึ่งพยานบางปากให้การสับสนระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ที่มีการระบุว่าเป็นผู้ขับรถยนต์ของนายสมชายไป โดยส่วนใหญ่พยานจะให้การทำนองเดียวกันว่าเห็นคนร้าย 3-4 คนยื้อยุดฉุดกระชากกัน แต่ไม่ให้ความสนใจมากนัก กระทั่งทราบข่าวภายหลังว่านายสมชายหายตัวไป จึงได้มาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุที่จะมองเห็นเพียงไม่ถึงนาที รวมทั้งปัญหาแสงไฟ อาจทำให้ไม่ชัดเจนเพียงพอ โดยลักษณะเด่นของจำเลยที่โจทก์นำสืบว่าบางคนขาวสูงคล้ายคนจีน ก็ไม่ใช่ลักษณะเด่น แต่เป็นลักษณะทั่วไป อีกทั้งคำเบิกความของพยานในชั้นศาลก็ไม่ได้ยืนยันชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้าย และที่โจทก์นำสืบว่าได้ทราบถึงการพูดคุยของจำเลย เพื่อจะทำร้ายนายสมชายก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำนายตำรวจที่ทราบถึงประเด็นดังกล่าวมานำสืบให้ชัดแจ้งส่วนพยานเอกสารที่เป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งห้า ที่มีการตรวจสอบเน้นในเกิดเหตุวันที่ 12 มี.ค.47 ตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น. และมีการจัดทำพิกัดพื้นที่การใช้โทรศัพท์นั้น ที่โจทก์นำสืบว่ามีการติดต่อโทรศัพท์ระหว่างจำเลยมากผิดปกติถึง 75 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว สะกดรอยตามนายสมชายโดยตลอด โดยมีพยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจัดทำข้อมูลมาเบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ส่วนหนึ่งได้จากการที่ผู้ช่วย ผบ.ตร.ประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบพยานโจทก์ว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไม่ได้เป็นผู้บันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วยตนเอง แต่เป็นกรณีที่ได้รับข้อมูลเป็นเอกสาร ซึ่งถึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามาเท่านั้น อีกทั้งเอกสารนั้นเป็นเพียงสำเนา ไม่ได้มีการรับรองผู้จัดทำโดยตรง ดังนั้น พยานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 ที่จะอ้างเป็นพยาน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอย ยังไม่อาจนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

นางอังคณา กล่าวว่า ก็รู้สึกเสียใจ และขอไว้อาลัยแด่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน ที่ได้ส่งเอกสารที่ไม่มีความน่าเชื่อถือให้อัยการและศาลพิจารณา รวมถึงไม่มีการคุ้มครองพยาน ทำให้พยานหวาดกลัวไม่สามารถจะชี้ตัวจำเลยในชั้นศาลได้ และการที่ศาลไม่สามารถอนุญาตให้ครอบครัวเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีมันจะส่งผลกระทบต่อคนที่โดนอุ้มหายไปได้ต่อไปในอนาคต เพราะว่าต่อจากนี้ไป คดีที่คนโดนอุ้มหาย ครอบครัวจะไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ เพราะเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนที่หายตัวไปบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจึงรู้สึกผิดหวังกรณีนี้เช่นกัน

“เมื่อปี 55 รัฐบาลได้มีมติเยียวยาครอบครัวนายสมชาย เนื่องจากเชื่อได้ว่านายสมชายถูกลักพาตัวและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่วันนี้ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ต้องถามรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพนักงานสอบจะต้องมีความเป็นมืออาชีพอย่างไรที่จะต้องนำพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือขึ้นต่อศาล และเอาผิดได้ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นางอังคณากล่าว

นางอังคณา ยังกล่าวอีกว่า คดีการบังคับสูญหาย ในทางกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง จะไม่มีอายุความ อายุความจะเริ่มต่อเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย ดังนั้นคดีสมชาย นีละไพจิตร ก็ยังคงต้องมีผู้รับผิดชอบอยู่ต่อไป วันนี้คดีกลับมาที่ 0 คงต้องฝากกลับไปถามรัฐบาล ถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้รับผิดชอบคดี และผู้ที่ต้นทางกระบวนการยุติธรรม ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ที่จะให้ความเป็นธรรมกับครอบครัว และจะดำเนินการอย่างไรในการบอกสถานที่ และก็ที่อยู่ และสถานะของสมชายให้ได้ อยากให้ดีเอสไอเร่งคดีการสูญหายของนายสมชายหายตัวไปตั้งเเต่ปี 48 เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว

นางอังคณา กล่าวต่อว่า เวลานี้เราไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย ทั้งที่มีคนเห็นคนกลุ่มหนึ่งผลักทนายสมชายขึ้นรถและเขาไม่ได้กลับมาอีก แต่เราไม่มีกฎหมายดูแลตรงนี้ เพียงถ้าหาศพไม่เจอ แสดงว่าก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องรีบเร่งที่จะให้รีบเร่งลงนามสัตยาบรรณอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ แล้วก็จะต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหายต่อไป เพราะคนอาจถูกกุมตัวไปไว้ในสถานที่ลับและไม่เปิดเผยโดยไม่รู้สถานะและชะตากรรมได้ คงเป็นหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการขู่บังคับให้สูญหาย ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตั้งแต่ช่วงเมษายน 58 แต่หาก ครม.ยังไม่เห็นชอบยังค้างอยู่ ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในสภากฎหมายก็จะไม่ได้บังคับใช้ อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญปัญหาการอุ้มฆ่า และผลักดันกฎหมายที่ให้มีการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ

“คดีอุ้มฆ่าเป็นคดีที่พิสูจน์ยากว่า อยู่สถานะไหน หากเราไม่เจอศพ ดังนั้นข้อเท็จจริงจะประจักษ์ว่า คนพวกนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง เสียใจที่ศาลไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบ แต่พิจารณาเฉพาะกฎหมายว่าไม่มีพยานหลักฐานว่า สมชาย บาดเจ็บ หรือสูญหาย หากกระบวนการยุติธรรมมีใจที่เป็นธรรมและมองคนตามข้อเท็จจริง คนธรรมดาจะหายไปไหนได้ตั้ง 12 ปี ถ้าญาติไม่สามารถเป็นโจทก์ได้ ใครจะเป็นโจทก์ได้ ถึงแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอาสมชายกลับมาได้ แต่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถที่จะปฏิเสธการให้ความเป็นธรรมได้” นางอังคณากล่าวทิ้งท้าย

ความคิดเห็น

comments