โลกมุสลิมในอดีตคือผู้ฉุดยุโรปขึ้นจากความตกต่ำ

Dr.Winai Dahlan โพสเฟสบุก ระบุว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนปราศรัยในการปิดงาน Thailand Halal Assembly 2015 วันที่ 27 ธันวาคม 2558 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้น่าประทับใจ ท่านบอกว่าแทนที่จะชื่นชมกับความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรอิสลามในอดีต เรามุสลิมควรช่วยกันมองหาอนาคตและหาทางทดแทนคำว่าอดีตด้วยคำว่าปัจจุบันและอนาคตน่าจะดีกว่า ก่อนหน้านั้นสักสองชั่วโมง ผมอภิปรายในงานสัมมนาช่วงเช้าของวันเดียวกันในท่วงทำนองที่ว่าผมไม่ชอบพูดถึงอดีตไม่ว่าจะหอมหวานสักแค่ไหนแต่อยากเห็นอนาคตที่สดใสมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่าหากเราไม่เข้าใจอดีตการก้าวกระโดดสู่อนาคตก็คงหาความจิรังไม่ได้

สังคมที่เคยเผชิญภาวะเดียวกับเรามาอย่างยาวนานคือสังคมยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 6-13 ผู้คนในทวีปแห่งนี้เคยจมปลักอยู่กับยุคอับจนปัญญากระทั่งถูกเรียกขานว่ายุคมืด (Dark age) มาแล้ว หลังจากนั้นจึงฟื้นกลับคืนมากระทั่งสร้างจักรวรรดิที่สามารถนำเอาชาติต่างๆทั่วโลกลงมาอยู่ภายใต้อาณัติในรูปแบบของอาณานิคม โดยโลกเพิ่งผ่านพ้นสภาวะนั้นมาได้เมื่อไม่นานมานี้เอง แม้กระนั้นอำนาจของโลกตะวันตกที่เป็นอำนาจต่อเนื่องมาจากยุโรปกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ อะไรที่ทำให้ยุโรปที่เคยรุ่งเรืองมานับแต่ยุคจักรวรรดิโรมันสามารถตกต่ำลงได้ยาวนานขนาดนั้นเป็นเรื่องที่น่าศึกษา เมื่อเรียนรู้แล้วลองหาทางแก้ไขเราอาจหลุดพ้นภาวะชะงักงันทางปัญญาบ้างก็ได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของชาวยุโรปคือการกล้าวิพากษ์สังคมของตนเอง บทบาทของการวิพากษ์ตกเป็นหน้าที่ของนักปรัชญาซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายคน ในที่นี้ขอกล่าวถึงนักปรัชญาเพียงสองคนเท่านั้น คนแรกคือโวลแทร์ คนหลังคือรุสโซ่ นักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่ายุโรปตกต่ำลงก็เพราะการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันที่รุ่งเรืองมายาวนานก่อนหน้านั้นโดยเชื่อว่าเมื่อโรมล่มสลายลง อำนาจของโรมแตกสลายกระทั่งขาดการรวมศูนย์อำนาจ แต่โวลแทร์กลับไม่คิดเช่นนั้น โวลแทร์เห็นว่ายุโรปตกต่ำก็เพราะสภาวะมืดบอดทางปัญญาที่เกิดจากการครอบงำของฝ่ายศาสนา

โวลแทร์ชื่อจริงคือฟรังซัว-มารี อารูเอท์ (François-Marie Arouet) เป็นนักปรัชญา นักเขียน นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1694-1778 นับเป็นบุคคลสำคัญที่กล้าวิพากษ์สังคมของตนอย่างตรงไปตรงมากระทั่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น โวลแทร์เชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยุโรปถลำลงสู่ยุคมืดทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนานนับแต่คริสตศตวรรษที่ 6 กระทั่งถึงศตวรรษที่ 13 เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตอนปลายศตวรรษที่ 5 (ค.ศ.476) โดยศาสนจักรค่อยๆก้าวขึ้นมาแทนอำนาจที่ขาดหายไป

โวลแทร์เห็นว่าอำนาจของศาสนาที่ก้าวขึ้นมาแทนจักรวรรดิโรมันนอกจากจะไม่ได้เป็นแสงสว่างหรือทางนำแก่ประชาชนยังมีส่วนสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว สร้างความเชื่อแบบผิดๆ ส่งเสริมให้พระในพื้นที่ต่างๆแสดงบทบาทครอบงำประชาชนให้หลงอยู่กับความงมงาย เกิดความแตกแยกเกลียดชังระหว่างกัน จมปลักอยู่กับอดีตที่เคยรุ่งเรืองในยุคโรมัน ละเลยการศึกษา มุ่งอยู่กับโลกวิญญาณกระทั่งขาดการมองอนาคต ซึงท้ายที่สุดนำยุโรปทั้งทวีปให้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญาอย่างยาวนาน กระทั่งถึงศตวรรษที่ 14 เมื่อบรรยากาศของการฟื้นฟูอารยธรรมกรีก-โรมันได้เริ่มต้นขึ้นในอิตาลีก่อนจะกระจายออกไปทั่วยุโรปเกิดเป็นยุคที่เรียกกันในภายหลังว่า “เรเนสซองค์” (Renaissance) หรือการเกิดใหม่ การสลายอำนาจของศาสนจักรได้เริ่มต้นขึ้นกระทั่งศาสนจักรหมดอำนาจลงในที่สุด

งานเขียนของโวลแทร์มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักปรัชญานักคิดทั้งหลายในยุโรปให้ความใส่ใจกับการศึกษาและเรียนรู้จากอดีตเพื่อแก้ไขปัญหาปัจจุบัน นักปรัชญาอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญที่ปลุกยุโรปให้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองทางปัญญาคือจังจาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) (ค.ศ.1712-1778) งานเขียนของเขาช่วยปลุกให้ชาวยุโรปเร่งพัฒนาศาสตร์ต่างๆนำไปสู่การเกิดยุคแห่งความรุ่งเรืองทางปัญญา (Enlightenment) อย่างแท้จริง

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทั้งโวลแทร์และรุสโซ่มิได้กล่าวถึง หรือแม้กระทั่งนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวยุโรปจำนวนมากมายมิได้กล่าวถึงเช่นกัน แต่บุคคลสำคัญในโลกปัจจุบันคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฏราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรทรงตรัสถึงอย่างเผ็ดร้อนในพระดำรัส ณ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด วันที่ 27 ตุลาคม 1993 ความว่า “สิ่งหนึ่งที่ชาวตะวันตกทำผิดอย่างมากต่อโลกอิสลาม สิ่งนั้นคือการเพิกเฉยไม่ยอมรับว่าอารยธรรมของโลกตะวันตกทุกวันนี้เป็นหนี้ต่อโลกอิสลามอย่างมากมาย นี่คือความล้มเหลวทางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมพวกเราชาวตะวันตกอยู่จนทุกวันนี้” ข้อเท็จจริงคือยุโรปก้าวพ้นยุคมืดบอดทางปัญญาหลังจากได้ตระหนักถึงความเจริญรุ่งเรืองของโลกอิสลามผ่านทางสงครามยาวนานระหว่างชาวยุโรปกับชาวมุสลิมในมหาสงครามที่เรียกว่า “ครูเสด”

ขณะที่ยุโรปกำลังจมปลักอยู่กับความล้าหลังช่วงยุคมืด ทางตะวันออกคือโลกอิสลามซึ่งรุ่งเรืองอย่างยิ่งนับแต่ศตวรรษที่ 7 กระทั่งถึงศตวรรษที่ 15 การได้เห็นโลกอิสลามที่รุ่งเรืองแทนที่จะเป็นมุสลิมที่ป่าเถื่อนตามที่ได้รับการบอกเล่า การถ่ายทอดศิลปะวิทยาการ การแปลตำรับตำราภาษาอาหรับสู่ภาษาต่างๆในยุโรปตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษช่วยพลิกฟื้นให้ยุโรปตื่นจากยุคมืดเข้าสู่ยุคเรเนสซองค์ก่อนก้าวเข้าสู่ยุคความรุ่งเรืองทางปัญญาในที่สุด ช่างน่าเสียดายดังที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีดำรัสไว้คือชาวยุโรปกลับไม่ยอมรับและไม่ยอมกล่าวถึงการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการจากโลกอิสลามในครั้งนั้น ไม่มีการกล่าวถึงแม้กระทั่งในตำรับตำราประวัติศาสตร์ของตนเอง อับอายที่จะยอมรับว่ามุสลิมในอดีตคือผู้ที่ฉุดตนเองขึ้นจากปลักแห่งความไร้อารยธรรม แต่กลับไม่ละอายเลยที่จะกล่าวหาสังคมมุสลิมในปัจจุบันว่าเป็นต้นเหตุแห่งอนารยธรรมที่ปรากฏขึ้นในโลกทุกวันนี้

สิ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องวิพากษ์ตนเองคืออะไรทำให้สังคมมุสลิมถดถอยและอีกเมื่อไหร่ สังคมเราจึงจะกลับไปเป็นผู้ให้และกลายไปเป็นสังคมที่รุ่งเรืองทางศิลปะวิทยาการเช่นในอดีต
d8575

ความคิดเห็น

comments