สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อเกาหลีใต้ KCDC แถลงล่าสุดว่า ผลจากห้องวิจัยตรวจพบว่า เชื้อไวรัสเมอร์(MERS)ที่ระบาดในเกาหลีใต้ปี 2015 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 คนและติดเชื้ออีก 187 คนนั้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลายพันธุ์มาจากไวรัสเมอร์สที่ระบาดในซาอุดีอาระเบีย
สำนักข่าว RT รายงานวันที่ (8 มกราคม)ว่า หลังจากที่ได้ทดสอบสารคัดหลั่งร่างกายจากคนไข้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส(MERS)จำนวน 8 คน สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อเกาหลีใต้ KCDC ค้นพบว่า เชื้อไวรัสเมอร์สในคนไข้ชาวเกาหลีใต้เหล่านั้น เป็น “สายพันธุ์กลายพันธุ์” เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ไวรัสเมอร์ส์ที่ได้รับการรายงานว่า มีการระบาดทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในซาอุดีอาระเบียปี 2012
การกลายพันธุ์ทำให้ระดับไกลโคโปรตีน( glycoprotein)พุ่งสูง ทั้งนี้ไกลโคโปรตีนพบในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงรูปที่จำเพาะและป้องกันไม่ให้โปรตีนถูกทำลายและทำหน้าที่ในการจดจำเซลล์
โดยที่เริ่มมีการค้นพบเชื้อไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้ที่ได้รับการยืนยันในวันที่ 20 พฤษภาคม 2015 และมีชาวเกาหลีใต้ไม่ต่ำกว่า 15,000 คนถูกสั่งกักกันโรค และในวันที่ 23 ธันวาคมในปีเดียวกัน เกาหลีใต้ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เกาหลีใต้ไม่พบการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สแล้ว
ซึ่งการระบาดครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมานี้ ไวรัสเมอร์สได้คร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้ไปร่วม 38 คนและติดเชื้ออีก 187 คน
นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของ KCDC ยังชี้ว่าสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ของไวรัสเมอร์ในเกาหลีใต้มีความรุนแรงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ทาง KCDC ยังไม่ทราบว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสจะเปลี่ยนวิธีการแพร่กระจายของโรคหรือไม่ “สิ่งที่เรารู้อย่างแน่นอนคือ มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งทางเราต้องการผลวิเคราะห์จากห้องแล็บเพิ่มมากขึ้นเพื่อบ่งชี้ว่า สิ่งใดเป็นผลต่อการเกิดระบาดของสายพันธุ์ใหม่นี้” รายงานจากสำนักข่าวยอนฮับ เกาหลีใต้
และเพื่อที่จะต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสเมอร์สที่กลายพันธุ์นี้ ทาง KCDC ต้องวิจัยในระดับปฎิบัติการคลินิกในคนไข้ 32 คน
“ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับเกาหลีใต้ต้องให้ความสนใจต่อศักยภาพการวิจัยโรคเมอร์สนี้ เพื่อค้นพบสาเหตุที่ทำให้เชื้อไวรัสเกิดกลายพันธุ์” ศาสตราจารย์ ปาอีค ซุน-ยัง ( Paik Soon-young) ด้านจุลชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งเกาหลีใต้ให้ความเห็นกับสำนักข่าวยอนฮับ
และนอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังย้ำว่า การวิจัยการเปลี่ยนแปลงของไกลโคโปรตีนที่ส่งผลทำให้มีค่าสูงผิดปกติ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำการศึกษาเพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดในการระบาดของไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำนึกข่าว RT รายงานว่า ในขณะนี้ไม่พบการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังติดตาม และจะจัดการอย่างทันท่วงทีหากมีรายงานการค้นพบการติดเชื้อรอบใหม่เกิดขึ้น