ผู้ส่งออกน้ำมัน”เวเนซุเอลา” ปรับราคาน้ำมันในประเทศรวดเดียว 6,000%

ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร สั่งเพิ่มราคาน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี รวดเดียว 6,000% หลัง IMF คาดตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศอาจสูงถึง 720%

เป็นอีกครั้งที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ผู้นำเวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร ต้องตกอยู่ในความคับขัน ล่าสุดเอเอฟพีรายงานว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่เวเนซุเอลาประกาศขึ้นราคาน้ำมันจาก 1 เซนต์ต่อลิตร (3.60 บาท) เป็น 60 เซนต์ต่อลิตร (21.35 บาท) ตามราคาในวันพฤหัสบดี(18 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นถึง 6,000 %

ที่ผ่านมาเวเนซุเอลา ประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสมาชิกขององค์การโอเปคประสบปัญหากับราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำ และทำให้มีความเป็นไปได้ว่า มาตรการประกาศขึ้นราคาน้ำมันนี้อาจทำให้ประชาชนในประเทศที่ยากจน และต้องประสบปัญหาจากสภาพวิกกฤตเศรษฐกิจ จากการที่เวเนซุเอลามีปัญหาสินค้าพื้นฐานขาดแคลนอย่างหนัก ต้องออกมาประท้วงครั้งใหญ่

โดยในปี 1989 รัฐบาลเคยปรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ ทำให้ประชาชนชาวเวเนซุเอลาต่างออกมารวมตัวประท้วงอย่างหนักทั่วประเทศ

เอเอฟพีรายงานต่อว่า ในแถลงการณ์ของนิโคลัส มาดูโร ผ่านทางโทรทัศน์ชี้ว่า “เป็นมาตรการที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผม” มาดูโรแถลง และในแถลงการณ์ มาดูโรยังกล่าวต่อว่า “เราจะสร้างระบบใหม่ที่มีการประกันการเข้าถึงน้ำมันในราคายุติธรรม แต่ยังสามารถสร้างหลักประกันว่าจะสามารถมีทุนพอในด้านการลงทุนการผลิตน้ำมัน”

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ของประธานาธิบดีเวเนซุเอลา มาดูโรยังประกาศจะลดค่าเงินโบลิวาร์ลงอีก โดยระบบแลกเปลี่ยนเงินตราใหม่จะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ในพฤหัสบดี(18) ซึ่งจะมี 2 อัตราแลกเปลี่ยน

A: อัตราแลกเปลี่ยนตายตัวที่กำหนดโดยรัฐบาลเวเนซุเอลาสำหรับสินค้าอาหารและยานำเข้าเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ค่าเงินโบลิวาร์อ่อนตัวลงราว 37% หรือจากอัตราแลกเปลี่ยน 6.3 โบลิวาร์ ต่อ 1 ดอลลาร์ในระบบเก่า อ่อนตัวไปถึง 10 โบลิวาร์ต่อ 1 ดอลลาร์ในระบบใหม่

B: อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ที่จะถูกใช้ในตลาดเปิดเสรีกับทุกธุรกรรมการเงิน เว้นแต่ธุรกรรมที่ถูกระบุในด้านอาหารและยารักษาโรค

โดยเอเอฟพีชี้ว่า ทั้ง 2 ระบบจะถูกใช้คู่ขนานกันไป แต่อย่างไรก็ตามยังสร้างความกังขาให้กับนักวิเคราะห์บางส่วน ซึ่ง มิเกล แองเจล ซานโตส (Miguel Angel Santos) นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ต้องดูว่าในความเป็นจริงแล้ว คนจะสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ สหรัฐฯได้มากเท่าใดในระบบใหม่”

และซานโตสยังเสริมต่อว่า “รัฐบาลเวเนซุเอลาไม่มีจำนวนเงินดอลลาร์มากพอที่จะขายในจำนวน 200 โบลิวาร์ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะทำให้พบกับดีมานด์ที่ต้องการได้”

เอเอฟพีชี้ว่า ในอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศอีกระบบที่ใช้ในกรุงคาราคัสขณะนี้อยู่ที่ 200 โบลิวาร์ ต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ทว่าในตลาดมืด กลับพบว่า ชาวเวเนซุเอลาต้องใช้เงินถึง 1,000 โบลิวาร์ ต่อ 1 ดอลลาร์

ซึ่งในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ มาดูโรยอมรับว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของเวเนซุเอลาที่อดีตประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ฮูโก ชาเวซ เป็นผู้นำมาใช้นั้น “ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”

และนอกจากนี้ จากการที่มีการปรับระบบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศใหม่ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาหวังว่า การลดค่าเงินโบลิวาร์ลงอีก จะสามารถกระตุ้นการส่งออกของประเทศได้ ซึ่งจะทำให้สินค้าของเวเนซุเอลาถูกลง

โดยมาดูโรอ้างว่า จะเป็นการกระตุ้นภาคการผลิตเพื่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก

และนอกจากนี้ นิโคลัส มาดูโร ยังตั้งความหวังว่า สมาชิกผู้นำการผลิตน้ำมันดิบของโลกจะหยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อให้ราคากลับมาดีดตัวขึ้น

ทั้งนี้ในเดือนมกราคม 2016 สถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF ได้คาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาประจำปีนี้ว่าจะสูงถึง 720% พุ่งสูงกว่าตัวเลขในปี 2015 ที่อยู่ราว 275 %

โดยบลูมเบิร์ก บิสซิเนส รายงานในวันที่ 22 มกราคมล่าสุดว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเวเนซุเอลาในปี 2016 นั้นสูงเกือบ 4 เท่าของค่ามัธยฐานที่ 184%

นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ต่อว่าในปี 2016 เศรษฐกิจเวเนซุเอลาจะหดตัวลง 8% หลังจากในปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจถึง 10%

ทั้งนี้ในวันที่ 15 มกราคมล่าสุด เป็นครั้งแรกในรอบปีที่ธนาคารกลางเวเนซุเอลาได้ออกรายงานเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศ ยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาอยู่ในระดับตัวเลข 3 จุดแล้ว และปิดในไตรมาสทางบัญชีสุดท้ายที่ 141.5% ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ถูกเปิดเผยก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม 2014 ทางธนาคารกลางเวเนซุเอลาประกาศว่า มีอัตราเงินเฟ้อ 68.5%

ความคิดเห็น

comments