จิตแพทย์เตือน “ดึงสติ” รู้เท่าทันอารมณ์ ก่อนโพสต์ “เฟซบุ๊ก” ระบายปัญหาชีวิต ย้ำสื่อออนไลน์แพร่กระจายเร็ว หลักฐานชัดเคยพูดสิ่งใด เสี่ยงย้อนทำร้ายตนเองภายหลัง ห่วงคนรอบข้างอาจสื่อสารคนโพสต์ไม่เพียงพอ แนะผู้ใหญ่สอดส่องสร้างวุฒิภาวะให้เด็ก
MGR Online พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงพฤติกรรมการโพสต์เฟซบุ๊กของคนในสังคมไทย โดยเด็กนิยมโพสต์ภาพการทำร้ายตัวเอง หรือผู้ใหญ่ที่มักโพสต์เรื่องราวปัญหาต่างๆ ในชีวิต ว่า คนส่วนใหญ่ที่โพสต์เรื่องราวปัญหาชีวิตต่างๆ ลงในสังคมออนไลน์นั้น เชื่อว่าพยายามที่จะแก้ไขปัญหาแล้ว แต่อาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจ และเป็นที่ยอมรับของคนที่ต้องการจะสื่อสารด้วย เมื่อปัจจุบันมีโซเซียลมีเดียเกิดขึ้น จึงเลือกที่จะบอกเล่าปัญหาต่างๆ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก เพราะเป็นอีกช่องทางที่จะสามารถสื่อสารกับคนที่ต้องการจะบอกได้ จึงนำมาซึ่งปัญหาที่ไม่รู้จบ เพราะการสื่อถึงปัญหาทางอารมณ์ของผู้โพสต์ เป็นได้ว่าคนรอบข้างอาจจะสื่อสารกับคนคนนั้นไม่เพียงพอ
“กรณีของเด็กนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าเด็กมีวุฒิภาวะไม่เพียงพออยู่แล้ว ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างจึงควรที่จะสร้างวุฒิภาวะให้กับเด็ก ควรบอกสอนว่าแสดงออกอย่างไรจึงจะถูกต้อง นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูการแสดงออกในเรื่องราวต่างๆ ของบุตรหลานอีกด้วย และต้องรับผิดชอบในการแสดงออกนั้นๆ ของเด็ก ต้องมีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ปรับตัวเข้าหากัน” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวว่า ผู้ที่ใช้สื่อต้องตระหนักว่า ถึงแม้จะตั้งค่าการโพสต์ต่างๆ ไว้เป็นส่วนตัวแล้ว แต่การโพสต์เรื่องราวเช่นนี้ก็ยังเหมือนเป็นการเล่าเรื่องลงในที่สาธารณะอยู่ดี ซึ่งมีสิทธิ์ที่เรื่องราวต่างๆ จะถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้คนที่อาจจะไม่ได้รู้จักสนิทสนมกับผู้โพสต์ เช่นการโพสต์ถึงเรื่องเศร้าในชีวิต หรือปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อผ่านเวลาไปแล้วอาจจะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นอีก แต่เมื่อคนอื่นมาเห็น อาจก็ยังเข้าใจว่าเราเป็นแบบนั้น อีกทั้งคำพูดที่สื่อออกไปยังเป็นนายเรา เพราะมีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่าเคยพูดสิ่งนั้น ไม่เหมือนการพูดบอกเล่าเฉยๆ ดังนั้นทุกคนที่ใช้สื่อออนไลน์ควรมีสติในการดำรงชีวิต รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควรคิดทบทวนก่อนพูดก่อนทำ ตระหนักเสมอว่าโลกออนไลน์รวดเร็วต่อการแพร่