รัฐมนตรีกระทรวงการคลังบังกลาเทศ เอเอ็มเอ มูฮิธ (A.M.A Muhith) แถลงข่าวยืนยันการลาออกของผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศ อาติอูร์ เราะห์มาน (Atiur Rahman) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุสูญทุนสำรองเงินตราสำรองต่างประเทศจำนวน 101 ล้านดอลลาร์ที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งนิวยอร์ก หรือ “นิวยอร์ก เฟด” ผ่านการโอนเงินแค่ 5 ครั้งโดยมือแฮกเกอร์ คาดว่าอาจเป็นแฮกเกอร์ชาวจีน ล่าสุดพบชายชาวจีนนิรนามกดเงินสดปลายทางจำนวนหลายล้านดอลลาร์จากตู้เอทีเอ็มกลางกรุงมะนิลา
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังบังกลาเทศ เอเอ็มเอ มูฮิธ (A.M.A Muhith) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีวันนี้ (15 มี.ค) ถึงการลาออกของ อาติอูร์ ราห์มาน (Atiur Rahman) ว่า “ผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศได้โทรศัพท์ติดต่อมาหาผมเมื่อวานนี้ และผมได้ขอให้เขาลาออก และในวันนี้เขาได้ยื่นใบลาออกแล้ว” เอเอฟพีรายงาน
ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศไม่ยอมแจ้งต่อรัฐบาลทันทีหลังจากรับทราบว่าเงินทุนสำรองของประเทศถูกปล้นออกจากธนาคารกลางสหรัฐฯแห่งนิวยอร์กออกไปได้สำเร็จถึง 101 ล้านดอลลาร์
เจ้ากระทรวงการคลังบังกลาเทศระบุต่อว่า การโดนโจรไฮเทคปล้นเงินทุนสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศครั้งใหญ่นี้ “ทำให้บังกลาเทศต้องได้รับความอับอายไปทั่วโลก”
โดยเอเอฟพีชี้ว่าหลังเกิดเหตุทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดนโจรกรรม ทำให้เกิดความวิตกไปถึงเงินทุนสำรองในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศของบังกลาเทศที่มีอยู่ในบัญชีฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯแห่งนิวยอร์ก หรือ “นิวยอร์ก เฟด” จำนวนไม่ต่ำกว่า 27 พันล้านดอลลาร์
ด้านบลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจรายงานว่า ในอีกฝั่งของผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศ เราะห์มานได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวสู้รัฐมนตรีคลังบังกลาเทศ มูฮิธ กลางกรุงธากาในวันอังคาร(15) โดยเราะห์มานแถลงว่า เขาได้เตรียมจดหมายลาออกแล้ว และต้องการเข้าพบเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซินา (Sheikh Hasina) ก่อนที่จะดำเนินการอื่นต่อไป ซึ่งบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า การที่ผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศ เขาต้องการเข้าพบกับฮาซินา เพราะไม่ต้องการเผชิญหน้ากับมูฮิธที่ได้ประกาศในวันอาทิตย์ (13) ต้องการให้ผู้ว่าแบงค์ชาติแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
เราะห์มานได้ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กในวันอังคาร (15) ว่า “หากเป็นความผิดพลาดของผม เขาสามารถลงมือจัดการผม หรือต่อธนาคารกลางบังกลาเทศได้” และยังยืนยันว่า “แต่เขาไม่สามารถสบประมาทผมต่อสาธารณะ”
ซึ่งในการแถลงข่าวของราห์มานได้ยืนยันว่า “ผมจะทำทุกสิ่งเท่าที่เป็นไปได้เพื่อบังกลาเทศ” และยังกล่าวต่อว่า “ในขณะนี้ผมกำลังรอคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ผมต้องการลาออกอย่างมีศักดิ์ศรี”
โดยล่าสุดบีบีซี อังกฤษรายงานว่า เราะห์มานได้ยื่นใบลาออกกับฮาซินาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศ อาติอูร์ เราะห์มาน มีกำหนดต้องสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เมื่อเขามีอายุครบ 65 ปี หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งมานานถึง 7 ปี
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า การที่ต้องถูกบีบลาออกจากตำแหน่งของ เราะห์มาน เกิดขึ้นจากที่ มูฮิธ ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศถึงเงินฝากสำรองของประเทศถูกโจรแฮกเกอร์ปล้นไป ล่าช้าไปถึง 1 เดือน หลังจากเหตุเกิดครั้งแรกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีการคลังบังกลาเทศยอมรับว่า ทราบข่าวเงินทุนสำรองถูกปล้นครั้งแรกผ่านการรายงานของสื่อมวลชน
“ธนาคารกลางบังกลาเทศไม่ยอมแจ้งต่อผม ดังนั้นแน่นอนที่สุดผมต้องลงมือจัดการ” มูฮิธให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีในวันอาทิตย์ (13 มี.ค)
ทั้งนี้ กระแสข่าวฉาวการสูญเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ของบังกลาเทศเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเราะห์มานในวัย 64 ปีเดินทางไปอินเดียเพื่อเข้าร่วมการประชุมสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF และปล่อยให้ลูกน้องทำหน้าที่อธิบายว่าเหตุใดบังกลาเทศจึงได้สูญเงินสำรองจำนวนมหาศาลไปให้กับมือแฮกเกอร์อย่างง่ายดาย
CNN Money รายงานการโจรกรรมครั้งประวัติศาสตร์ว่า โจรไซเบอร์สามารถโจรกรรมจากแอกเคาน์ของบังกลาเทศที่ฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯแห่งนิวยอร์ก ที่เรียกว่า “นิวยอร์ก เฟด” ด้วยการทำธุรกรรมโอนเงิน 5 ครั้งด้วยกัน ซึ่งดูเหมือนว่า คนร้ายจะใช้เซิร์ฟเวอร์เรียกออกมาจากบังกลาเทศ และยังได้ให้ “โค๊ด” ที่ถูกต้องกับนิวยอร์ก เฟดเพื่อทำการยืนยันการโอนเงิน นิวยอร์ก เฟด แถลง
และยังพบว่า จากเงินจำนวนทั้งหมด 101 ล้านดอลลาร์ที่โจรสามารถนำออกไปได้ มีจำนวน 81 ล้านดอลลาร์ถูกเคลื่อนย้ายไปยังฟิลิปปินส์ และอีก 21 ล้านดอลลาร์ ถูกโอนไปยังบัญชีปลายทางในศรีลังกา
ซึ่งธนาคารกลางบังกลาเทศแถลงว่า บังกลาเทศสามารถนำเงินคืนกลับมา 21 ล้านดอลลาร์ ในส่วนที่ได้ถูกโอนไปยังศรีลังกา และยังได้สั่งอายัดบัญชีปลายทางในฟิลิปปินส์ ซึ่งทางธนาคารกลางบังกลาเทศอยู่ในระหว่างการดำเนินการร่วมมือกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติฟิลิปปินส์เพื่อติดตามเงินที่ถูกโจรกรรมกลับคืน
โดยเอเอฟพีชี้ว่า ในส่วนของฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางบังกลาเทศแถลงว่า เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ได้ทำการอายัดเงินที่ได้มาจากการแฮกผ่านของทางไซเบอร์ตามหมายศาลมะนิลา ซึ่งทางบังกลาเทศสงสัยว่ากลุ่มโจรแฮกเกอร์ที่ลงมือครั้งนี้ “อาจเป็นแฮกเกอร์ชาวจีน”
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า Teofisto Guingona หัวหน้าคณะกรรมาธิการต่อต้านการคอร์รัปชันประจำวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ในขณะนี้ชุดทำงานของ Guingona กำลังตรวจสอบธนาคารริซาล คอมเมอร์เชียล แบงกิง คอร์ป RCBC ซึ่งมีบัญชีหนึ่งของธนาคารถูกใช้เป็นบัญชีปลายทางรับเงินร่วม 81 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับการโอนจากนิวยอร์ก เฟด
โดยพบว่ามีชายชาวจีนนิรนามคนหนึ่งเป็นผู้รับเงินสดไม่ต่ำกว่า 30 ล้านดอลลาร์ผ่านทางตู้เอทีเอ็ม ซึ่งกระบวนการโอนเงินใช้เวลาหลายวันผ่านช่องทางบริษัทบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวนราว 600 ล้านเปโซ (12.87 ล้านดอลลาร์) และอีกก้อนราว 18 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะพบว่าในการถอนเงินสดครั้งนี้ต้องใช้ธนบัตรไม่ต่ำกว่า 780,000 ใบที่คนร้ายรายนี้ได้ไป
“แน่นอนที่สุดว่าไม่ใช่การดำเนินการเพียงแค่ครั้งเดียว แต่เป็นการดำเนินการหลายครั้งด้วยกัน” Guingona แถลง และยังเปิดเผยต่อว่า เงินได้ถูกโอนมาที่บัญชีของ RCBC และมีเงินจำนวนหนึ่งที่ถูกถอนออกไปในรูปเงินเปโซฟิลิปปินส์
ในขณะที่เงินสดถูกถอนออกจากบัญชีปลายทางออกไป แต่กลับพบว่าทีวีกล้องวงจรปิดของธนาคาร RCBC ในบริเวณตู้เอทีเอ็มไม่ทำงาน Guingona แถลง และกล่าวต่อว่า แต่หลังจากการสอบสวนแล้วพบว่า เงินได้ผ่าน ฟิลเรม เซอร์วิส คอร์ป (Philrem Service Corp) ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไปยังชายชาวจีนคนหนึ่ง และคาสิโนอีก 2 แห่ง
โดยในเบื้องต้นนี้ยังไม่ทราบว่าชายต้องสงสัยผู้นี้เป็นพลเมืองจีน หรือพลเมืองไต้หวัน รอยเตอร์ชี้
Guingona แถลงต่อว่า และเงินจำนวนอีก 29 ล้านดอลลาร์ได้ถูกโอนไปยังบัญชีของ Solaire คาซิโน รีสอร์ท ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บลูมเบรี รีสอร์ตส์ คอร์ป (Bloombery Resorts Corp) ที่มีเอนริเก ราซอน (Enrique Razon )ชายที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 5 ของฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของ
และนอกจากนี้ หัวหน้าคณะกรรมาธิการต่อต้านการคอรับชันประจำวุฒิสภาฟิลิปปินส์ยังเปิดเผยต่อว่า และรวมไปถึงเงินจำนวนราว 21 ล้านดอลลาร์ถูกโอนไปยังบัญชีของ อีสเทิร์น ฮาวายอี เลเชอร์ โค. (Eastern Hawaii Leisure Co.) บริษัทคาซิโนทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์
รอยเตอร์รายงานว่า แหล่งข่าวธนาคารกลางบังกลาเทศได้เผยว่า เป็นที่เชื่อว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินไปยังฟิลิปปินส์ 4 ครั้ง และเมื่อเงินได้ถึงจุดหมายแล้ว และได้ส่งต่อไปยังบริษัทคาสิโนของฟิลิปปินส์ ซึ่งธนาคารกลางบังกลาเทศต้องการเงินที่ถูกปล้นไปกลับคืน แต่ทว่า Guingona ระบุว่า ธุรกิจคาสิโนไม่เข้าข่ายในกฎหมายธุรกรรมการฟอกเงินฟิลิปปินส์ ดังนั้นจึงไม่คิดว่าเงินที่สูญไปจะสามารถกลับคืนสู่บังกลาเทศได้ “จุดหมายปลายทางสุดท้ายของเงินหยุดอยู่ที่นั่น และนั่นคือปัญหา” Guingona กล่าว และเสริมว่า “ในขณะนี้เรามาถึงทางตันแล้ว”
และยังมีการเปิดเผยจากแหล่งข่าวธนาคารกลางบังกลาเทศต่อรอยเตอร์อีกว่า คาดว่าเงินที่ถูกขโมยไปอาจจะอยู่ที่ฮ่องกง แต่แหล่งข่าวไม่เปิดเผยในรายละเอียด
CNN Money รายงานต่อว่า โจรแฮกเกอร์พยายามจะทำการโอนเงินจากนิวยอร์ก เฟด อีกจำนวนกว่า 850 ล้านดอลลาร์ แต่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งนิวยอร์ก เริ่มรู้ถึงสิ่งผิดปกติเมื่อพบว่ากลุ่มโจรได้ “พิมพ์ชื่อผู้รับผิด” จึงได้ทำการปฏิเสธการดำเนินการธุรกรรมนั้น
โดยพบว่า กลุ่มโจรได้สะกดชื่อผู้รับรายหนึ่งผิด จึงทำให้ธนาคารดอยช์แบงก์ของเยอรมนี ซึงเป็นปลายทางของธุรกรรมครั้งนี้ได้ถามกลับไปยังนิวยอร์ก เฟด และทำให้ทางสถาบันการเงินสหรัฐฯยกเลิกธุรกรรมนั้น
ในขณะเดียวกัน นิวยอร์ก เฟดได้แจ้งความผิดปกติต่อธนาคารกลางบังกลาเทศถึงการโอนเงินต้องสงสัยอย่างต่อเนื่องครั้งนี้ ซึ่งบีบีซี สื่ออังกฤษชี้ว่า น่าเชื่อว่าการที่สถาบันการเงินพบความผิดปกติเพราะ เป็นการทำธุรกรรมการเคลื่อนย้ายเงินไปยังบัญชีส่วนบุคคล และยังเป็นการทำธุรกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก โดยพบว่าการโจรกรรมได้เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งเป็นวันหยุดของธนาคารกลางบังกลาเทศ ออกมาจากนิวยอร์ก เฟด ที่หยุดทำการในวันเสาร์และอาทิตย์ โดยนิวยอร์ก เฟด ยังคงยืนกรานปฏิเสธถึงเหตุการณ์นี้จากการรายงานของ CNN Money ว่า “ไม่ใช่การถูกปล้นทางไซเบอร์”
อย่างไรก็ตาม CNN Money ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่า เหตุใดโจรแฮกเกอร์จึงมี “โค๊ดลับ” ในมือ แต่บีบีซีรายงานว่า จากการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวธนาคารกลางบังกลาเทศพบว่า โจรแฮกเแอร์ได้แอบขโมย “รหัสผ่าน” ออกไปเพื่อใช้ในการยืนยันการทำธุรกรรมการเงิน