ออสเตรเลียระบุ ภัย ‘ปะการังฟอกขาว’ ที่ ‘เกรตแบริเออร์รีฟ’ อยู่ในขั้น ‘รุนแรง’

ทางการออสเตรเลียระบุในวันอาทิตย์ (20 มีนาคม) ว่า อาการ “ปะการังฟอกขาว” ที่กำลังเกิดขึ้นใน “เกรตแบริเออร์รีฟ” พืดหินปะการังซึ่งยาวที่สุดบนพื้นพิภพและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้เลวร้ายลงถึงขั้น “รุนแรง” ซึ่งเป็นระดับเตือนภัยสูงสุดแล้ว ขณะที่อุณหภูมิของทะเลในพื้นที่ดังกล่าวกำลังอุ่นขึ้น

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย เกร็ก ฮันต์ แถลงว่า ขณะที่อาการฟอกขาวซึ่งเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ ไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1998 และปี 2002 ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องจากปรากฏการณ์ “เอล นีโญ” เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงบริเวณส่วนเหนือของเกรตแบริเออร์รีฟขณะนี้ “เป็นสิ่งที่ควรวิตกห่วงใย”

“พืดหินปะการังนี้มีความยาว 2,300 กิโลเมตร และส่วน 3 ใน 4 ที่อยู่ข้างใต้ยังคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรงดี ทว่าเมื่อเราสำรวจต่อไปทางตอนเหนือ แถบนั้นกลับกำลังมีแนวโน้มที่จะฟอกขาวมากขึ้นเรื่อยๆ” ฮันต์กล่าวภายหลังเมื่อวันอาทิตย์ (20) ได้เข้าร่วมการสำรวจทางเครื่องบินในบางพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือน บรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงออสเตรเลีย (เอบีซี) รายงาน

“สรุปแล้วสิ่งที่คุณสามารถเห็นได้ขณะคุณเข้าไปใกล้เกาะลิซาร์ด (ซึ่งตั้งอยู่ในเกรตแบริเออร์รีฟ) ก็คือ ปะการังฟอกขาวเป็นแถบหลายๆ แถบทีเดียว”

ทางด้านองค์การอุทยานทางทะเลเกรตแบริเออร์รีฟ แถลงว่า จากการประกาศเตือนภัยสูงสุดเช่นนี้ ทำให้ทางองค์การมีอำนาจที่จะยกระดับการสำรวจเพิ่มขึ้นอีกเพื่อทำความเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

ฮันต์ระบุว่า รัฐบาลจะให้เงินทุนสำหรับการสำรวจบริเวณต่างๆ 40 บริเวณในพื้นที่พืดหินปะการังอันยาวเหยียดนี้ในเดือนกันยายน เพื่อประเมินสุขภาวะของปะการังและพิจารณาทางเลือกในการฟื้นฟูที่อาจนำมาใช้ได้

การฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนให้ปะการังกลายเป็นสีขาว หรือทำให้สีสันของมันซีดจางลง โดยเข้าใจกันว่าเนื่องจากปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และปะการังอาจตายได้ในที่สุดหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจึงเป็นภัยคุกคามแหล่งที่มาอันมีค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ, การท่องเที่ยว และการประมง

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นได้ เมื่อถูกรบกวนจากการที่ทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ยังอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ อีก

เกรตแบริเออร์รีฟ เวลานี้กำลังเผชิญปัญหาต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ, น้ำเสียจากการเกษตร, การพัฒนา และจากการระบาดของปลาดาวหนาม ซึ่งกินปะการังเป็นอาหาร

เมื่อปีที่แล้ว เกรตแบริเออร์รีฟเกือบถูกขึ้นบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตรายไปแล้ว แต่รอดมาได้หลังจากออสเตรเลียเร่งจัดทำแผนการเพื่อปรับปรุงสุขภาวะของพืดหินปะการังนี้ให้ดีขึ้นในตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีข้างหน้า

ความคิดเห็น

comments