รัฐบาลคีร์กิซสถาน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัลมาซเบ็ก อตัมบาเยฟประกาศในวันอังคาร (22 มีนาคม) ขอความช่วยเหลือจากองค์กรความร่วมมือด้านความมั่นคงส่วนภูมิภาค ที่มีรัสเซียเป็นแกนนำ เพื่อขอให้ช่วยจัดการกับความตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอุซเบกิสถาน หลังจากที่รัฐบาลอุซเบกส่งยานรบหุ้มเกราะจำนวนหนึ่งพร้อมกำลังทหารเข้าประชิดชายแดนคีร์กิซ
รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำคีร์กิซสถานได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศของตนยื่นเรื่องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญต่อองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organisation) ซึ่งมีรัสเซียเป็นแกนนำและมีสมาชิกเป็นอดีตดินแดนในสหภาพโซเวียตหลายแห่ง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลอุซเบกิสถานสั่งเคลื่อนกำลังทหารราว 40 นาย และยานรบหุ้มเกราะจำนวนหนึ่งเข้าประชิดชายแดนที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเขตปกครองนามันกันของอุซเบกิสถานกับเขตจาลาลาบัดของคีร์กิซสถาน ส่งผลให้ทางการคีร์กิซสถานสั่งเคลื่อนกำลังทหารประชิดชายแดนดังกล่าวเช่นเดียวกัน จนก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียกลาง ถึงแม้จะยังไม่มีการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย
ล่าสุดมีรายงานว่าที่ประชุมฉุกเฉินขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมซึ่งจัดที่กรุงมอสโกของรัสเซียมีมติเห็นชอบที่จะ “เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
หลังการประชุมที่รัสเซียเสร็จสิ้นลง สำนักข่าวคาบาร์ของทางการคีร์กิซสถานรายงานว่า ฝ่ายอุซเบกิสถานเริ่มทยอยถอนกำลังทหารและยานยนต์หุ้มเกราะออกจากชายแดนบริเวณดังกล่าวแล้วโดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
ด้านนายกรัฐมนตรีเตมีร์ ซาริเยฟ ของคีร์กิซสถาน ซึ่งเดินทางลงตรวจเยี่ยมชายแดนที่เขตจาลาลาบัดในวันอังคาร (22) ได้เรียกร้องให้ชาวบ้านในพื้นที่อยู่ในความสงบและว่ารัฐบาลคีร์กิซสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
ทั้งนี้ พื้นที่เขตจาลาลาบัดของคีร์กิซสถานเป็นพื้นที่ที่มีเหตุพิพาทมายาวนานระหว่างประชากรเชื้อสายคีร์กิซและอุซเบก โดยเมื่อปี 2010 รัฐบาลคีร์กิซสถานได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่นี้ และมีการส่งกองกำลังพิเศษลงพื้นที่หลังเกิดการปะทะกันของชนทั้งสองเชื้อชาติ