แม่ทัพภาค4 เชิญเครือข่ายต้านถ่านหินนำเสนอข้อมูลเหตุผลและผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้านผู้เห็นต่างเผยต้องการให้จัดตั้งเวทีพูดคุยที่ไม่ปกปิดข้อมูลใดทั่งสิ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงพลังงานทางเลือกอื่นแทยถ่านหิน
วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้เชิญเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร่วมพูดคุยเพื่อให้ทางเครือข่ายนำเสนอข้อมูลเหตุผลและผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีแม่ทัพภาค 4 รองแม่ทัพ ศอ.บต.และเครือข่ายภาคประชาสังคมใน จ.ปัตตานีกว่า 200 คนร่วมรับฟัง
ด้าน น.ส.ลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายฯกล่าวว่า กล่าวว่าวันนี้ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้เชิญเครือข่าย คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาแระ จ.ปัตตานีไปพูดคุยและให้นำเสนอข้อมูลผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินและผลกระทบ โดยนำเสนอข้อมูลให้ทางแม่ทัพ รองแม่ทัพ และผู้ร่วมรับฟังจำนวนกว่า 200 คน ได้รับทราบว่ากรณีผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่รับฟังเสียงที่แตกต่าง ไม่ได้ให้ข้อมูล ที่ชัดเจนโปร่งใส จึงเป็นต้นเหตุที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน มีการเดินหน้าผลักดันโครงการโดยปิดกั้นการมีส่วนร่วม ปิดกั้นข้อมูลที่เป็นจริงถึงผลกระทบที่จะเกิด คนในพื้นที่ก็มีความสามารถมากพอที่จะค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง เนื่องจากโลกปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้ามากมาย อย่างเช่นงานวิจัยผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินจากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งชาวบ้านรับรู้ถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจึงออกมาคัดค้าน
การจัดเวที ค.1, ค.2, ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหินมีการแจกสิ่งของให้ฝ่ายที่สนับสนุน แต่คนที่คัดค้านถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศห้ามคนที่มีความคิดเห็นต่างเข้าร่วมแสดงความคิด หากขัดขืนคำสั่งประกาศผู้ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้นำเสนอแม่ทัพว่า ทางแม่ทัพควรจะเปิดเวทีพูดคุยข้อมูลในข้อกังวลกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในทุกประเด็นและต้องมีความชัดเจนโปร่งใส รอบด้าน ทั้งภาควิชาการและคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ใช่ทำเพียงการแค่เปลี่ยนวาทกรรมเป็นถ่านหินสะอาด
คุณลม้ายกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเครือข่ายฯ ได้เดินรณรงค์หยุดถ่านหินจากปัตตานี-เทพา เมื่อวันที่ 8 – 10 เม.ย. ที่ผ่านมา จากการพูดคุยกับผู้คนตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน ได้รับรู่ว่า คนไม่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่รับรู้ว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ไม่รู้ถึงพิษภัยและผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการกว่า 100,000 ล้านบาท แต่มีการปกปิดข้อมูลไม่ให้เกียรติคนที่จะได้รับผลกระทบ และมีพลังงานที่เป็นทางเลือกพลังงานสะอาดและปลอดภัยให้เลือกมากกว่าถ่านหิน
หลังจากนำเสนอข้อมูลจบทางรองแม่ทัพรับว่าจะเปิดเวทีพูดคุยกันหลังจากนี้ โดยจะจัดเวทีพูดคุยกันให้ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยจัดกันมา จะสร้างหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องจัดเวทีพูดคุยกันก่อน
ด้าน ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า พลังงานจากโซลาร์เซลล์ เป็นพลังงานที่สะอาด สะดวก และต้นทุนต่ำ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ทุกบ้านสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าในบ้าน แต่อาจจะมีการตั้งคำถามว่า จะกำจัดแบตเตอรี่กันอย่างไรละ มันเยอะนะ ก็เลยเสนอต่อว่าไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ก็ได้ เปิดเสรีให้ต่อไฟฟ้าเข้าระบบซิครับ ราคาต้นทุนถูกลงได้อีกครับ แล้วจัดระบบเน็ตมิเตอริ่งมาด้วยเลย
นักวิชาการบางคน บอกว่า พลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดเป็นเพียงแค่อาหารเสริม คนเราต้องกินอาหารหลัก คือต้องกินพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลหรือถ่านหินนั่นเอง แต่เราก็กลับมองว่า พลังงานจากถ่านหินเป็นเพียงอาหารเคมี แต่พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานชีวจิตหรืออาหารอินทรีย์ปลอดสารพิษ รัฐบาลท่านบอกว่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำไมท่านไม่ลองประกาศใช้ ม.44 ให้ต่อเข้าระบบสายส่งได้บ้างละครับ นอกจากจะทำให้เรื่องผังเมืองและสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ปลดล๊อคต่างๆ ให้มันง่ายขึ้น ผมว่าท่านต้องพิจารณาให้สมดุลนะครับ
“ดูเหมือนว่า พลังงานหมุนเวียนจะเดินไปได้อย่างช้ามากๆ แนวคิดของพลังงานหมุนเวียนนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐจะต้องลงทุนเองทั้งหมดครับ เพียงแค่ส่งเสริมอย่างจริงจังเชิงประจักษ์ ว่าทำได้ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง รัฐบาลทำในระบบหน่วยงานเป็นตัวอย่าง นายกทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งที่บ้านรัฐมนตรีทุกคน รมว.ทุกกระทรวง อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่รักษ์และมีหัวใจสีเขียวลองทำดูนะครับ ผมว่าท่านจะได้เรียนรู้ว่า ปัญหา กฎระเบียบมันติดอยู่ตรงไหน ท่านจะทราบเลยว่า ที่ประชาชนต้องการทำแบบที่ไม่ยุ่งยากนั้นทำได้อย่างไรให้สะดวกและง่าย ส่งเสริมให้ตลอดวงจร เชื่อว่าการรวมพลังแบบนี้จะช่วยภาพรวมของประเทศได้ครับ” ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าว
ดร.สมพรกล่าวอีกว่า สำหรับผมไม่ได้นำเสนอแนวคิดอย่างเดียว แต่ผมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ผมทำมาสองปี ก็รับรู้กันแค่วงแคบๆ เท่านั้นครับ และอยากให้นักวิชาการที่สนับสนุนถ่านหินลองทำดูด้วยครับ อย่าคิดแต่ว่ามันแพง ไม่คุ้ม เป็นไปไม่ได้ อย่าเอาความแพงมาให้คนอื่น เผื่อท่านอาจจะได้เข้าใจศักยภาพของพลังงานทางเลือกในช่วงชีวิตนี้ วันหนึ่งท่านอาจจะคิดได้ว่า ท่านรู้สึกเสียดายแดดในช่วงที่เทคโนโลยีมันไปถึงแล้ว
ทางรอดของประเทศไทย คือการนำพลังงานทางที่เป็นไปได้มาใช้ก่อนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หายใจด้วยรูจมูกตัวเองก่อน การใช้ถ่านหินนำเข้านั้นถือว่าเป็นการยืมจมูกเพื่อนบ้านหายใจเช่นกัน การนำเข้าไฟฟ้าจากลาวแม้ว่าราคาจะต่ำก็จริง แต่มันก็มีการสูญเสียทรัพยากรของเค้าเช่นกันครับ
เรื่องการอนุรักษ์พลังงานเราไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกันมากนักครับ มักจะเป็นเพียงแค่ฤดูกาลหรืองานแฟชั่นเฉพาะกิจมากกว่า ตามกระแสโลก ลองปรับมาเป็นกระแสวิถีชีวิตดูครับ คงไปได้ไกลมากกว่านี้ครับ
ถ้าเราบริหารจัดการได้ ในสภาวะตอนนี้ประเทศไทยยังไม่วิกฤตทางพลังงานไฟฟ้า เพียงแต่การเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความจำเป็นต้องแซงหน้าพลังงานทางเลือกไปก่อนคือให้สร้างให้ได้ เพราะหากปล่อยไว้นานไปพลังงานในรูปแบบใหม่จะออกมามากเกินไป จะทำให้ธุรกิจการขายถ่านหินไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ในขณะที่หลายๆ ประเทศพยายามหาทางลดสัดส่วนลง สำหรับท่านที่เสนอให้ใช้ถ่านหินในระดับวัยเกษียณอาจจะมีโอกาสได้เห็นภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 20% ได้น้อยลง
พลังงานไฟฟ้า พอหรือไม่พอเป็นเรื่องของทุกคน อย่ามาบังคับให้พื้นที่ที่โครงการโรงไฟฟ้าลงมาต้องหมดทางเลือก และมิใช่ของคนในหมู่บ้านนั้นๆ มีความผิดที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่าไปกดดันให้เค้าต้องย้อนยุคหรือข่มเหงน้ำใจด้วยการยกภูมิปัญญาในอดีตมา ถามว่าชุมชนอื่นๆ ทำไมไม่ถูกเลือกในขณะที่โอกาสจะถูกเลือกก็มีเช่นกัน ถ้าไม่ให้เกียรติคนเห็นต่างด้วยก็ยากนะครับที่จะพัฒนาไปต่อได้ หากเป็นแบบนี้ท่านจะคืนความพอดีให้กับสังคมได้อย่างไร?
“ลงมาเช็คคราบน้ำตาคนที่เห็นต่างบ้างนะครับ น้ำตาของคนเหล่านี้อาจจะซึมเข้าไปในหัวใจท่านผู้มีอำนาจด้วยบ้างครับการครองคน จำเป็นต้อง ครองใจ และครองงาน และครองการมีส่วนร่วมด้วยในยุคนี้ครับ” ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าว
ภาพประกอบข่าว