แผ่นดินไหวฉุดหุ้นญี่ปุ่นดิ่งลงกว่า3% เร่งหาคนรอดชีวิต-อาหารเริ่มขาด

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งหาผู้สูญหายอีก 9 คนใต้ซากปรักหักพังจากแผ่นดินไหวใหญ่สองระลอกบนเกาะคิวชู ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งไม่เพียงทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 รายและสิ่งปลูกสร้างมากมายเสียหายยับเยิน แต่ยังฉุดตลาดหุ้นโตเกียวทรุดลงกว่า 3% ในวันจันทร์ (18 เม.ย.) เนื่องจากบริเวณที่ธรณีพิโรธเป็นฐานการผลิตสำคัญ ส่งผลให้บริษัทใหญ่หลายแห่งต้องปิดโรงงาน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยประมาณ 30,000 คนขุดค้นใต้ซากปรักหักพังเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต รวมทั้งจัดส่งอาหารและน้ำให้แก่ผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถกลับเข้าบ้านได้ หลังเกิดแผ่นดินไหวระลอกแรกเมื่อวันพฤหัสบดี (14) ซึ่งทำให้มีผู้สิ้นชีพไป 9 คน จากนั้นจึงตามมาด้วยระลอกหลังที่ระดับความรุนแรงสูงขึ้นอีก ถล่มใกล้ๆ เมืองคุมาโมโตะช่วงเช้าวันเสาร์ (19) ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วเพิ่มอีก 33 คน

รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า ผู้บาดเจ็บราว 190 คนมีอาการสาหัส และประชาชน 110,000 คนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย นอกจากนี้นับจากวันพฤหัสบดี ยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นถึงกว่า 400 ครั้งในจังหวัดคุมาโมโตะและส่วนอื่นๆ กลางเกาะคิวชู ถึงแม้ว่าเกาะแห่งนี้ไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ไม่เหมือนกับในพื้นที่หลักแห่งอื่นๆ ของญี่ปุ่น

มีรายงานว่าหน่วยกู้ภัยต้องใช้มือเปล่าโกยเศษซากปรักหักพังและสามารถช่วยเหลือผู้สูงวัยออกมาได้จำนวนหนึ่ง ถึงแม้สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ยังมีผู้สูญหาย 9 คนในหมู่บ้านมินามิอาโสะ จังหวัดคุมาโมโตะ

ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ที่ประสบภัยเริ่มขาดแคลนอาหารเนื่องจากถนนถูกตัดขาดจากดินถล่ม สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้รอดชีวิตนำเก้าอี้มาเรียงเป็นสัญลักษณ์ SOS บนสนามของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อให้เฮลิคอปเตอร์ที่ลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์มองเห็น

“ยังมีผู้สูญหาย และเราต้องการเพิ่มความพยายามเพื่อกู้ภัย ชีวิตประชาชนสำคัญที่สุด” นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (18) และสำทับว่าต้องการประกาศให้พื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นเขตภัยพิบัติเพื่อจัดสรรเงินกองทุนฉุกเฉินสำหรับการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์ให้

ผู้นำญี่ปุ่นยังบอกอีกว่า อเมริกาได้ส่งทหารและเครื่องบินทหารจำนวนหนึ่งมาช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยครั้งนี้แล้ว

ขณะเดียวกัน โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการทุกอย่างเพื่อสนับสนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ตลอดจนจากเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยจะรวมถึงการนำทุนสำรองที่มีอยู่ขณะนี้ 350,000 ล้านเยน (3,240 ล้านดอลลาร์) ออกมาใช้

ผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้แม้ยังไม่ชัดเจน ก็สะท้อนให้เห็นแล้วในการซื้อขายของตลาดหุ้นโตเกียวเมื่อวันจันทร์ (18) ซึ่งดัชนีนิกเกอิลดต่ำและปิดติดลบ 3.40% สืบเนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยน ตลอดจนการที่นักลงทุนรู้สึกไม่แน่ใจและพยายามประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตและบริษัทประกันภัย ขณะที่โรงงานในพื้นที่แถบนี้ของผู้ผลิตสำคัญหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงโตโยต้า, โซนี่ และฮอนด้า ระงับการผลิต ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วญี่ปุ่นหยุดชะงัก

ทั้งนี้ คุมาโมโตะเป็นฮับการผลิตสำคัญและเป็นที่ตั้งสถานีปฏิบัติการพลังงานนิวเคลียร์เพียงแห่งเดียวของญี่ปุ่น

โตโยต้าแถลงว่า จะระงับการผลิตในโรงงานทั่วประเทศ หลังแผ่นดินไหวทำให้ห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน โดยหนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า กำลังผลิตของค่ายรถอันดับ 1 แห่งนี้จะลดลง 50,000 คันในเดือนนี้ หรือประมาณ 5% ของยอดการผลิตทั้งหมด

ด้านโซนี่ระบุว่า ยังคงระงับการผลิตในโรงงานอุปกรณ์อิมเมจ เซนเซอร์ในคุมาโมโตะ ขณะที่ฮอนด้าประกาศระงับการผลิตในโรงงานจักรยานยนต์ทางใต้ของญี่ปุ่นจนถึงวันศุกร์ (22)

มาซามิชิ อะดาชิ จาก เจ.พี. มอร์แกน ชี้ว่า ผลกระทบระยะสั้นต่อกิจกรรมเศรษฐกิจดูเหมือนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายโดยรวมได้เนื่องจากยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาไม่หยุด แต่ระบุได้ว่า แนวโน้มการเติบโตโดยรวมมีความเสี่ยงขาลง

แผ่นดินไหวถือเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น เนื่องจากตั้งอยู่บน “วงแหวนไฟ” ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง วงแหวนไฟนี้ซึ่งมีจริงมีลักษณะเป็นวงรูปเกือกม้า ครอบคลุมหมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ข้ามไปถึงรัฐอะแลสกา ชายฝั่งด้านตะวันตกของอเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปลายอีกด้านของวงแหวนนี้ ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในเอกวาดอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 272 คน เมืองชายฝั่งบางแห่งราบเป็นหน้ากลอง และประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่อาจระบุตัวเลขแน่นอนยังคงติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

ความคิดเห็น

comments