ผู้เชี่ยวชาญ UN จี้ ซาอุฯ ยกเลิกโทษ “เฆี่ยน” แต่ไม่ห้ามสิงค์โปร

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยกเลิกการลงโทษทางกาย (corporal punishment) เช่น การเฆี่ยน หรือตัดมือผู้กระทำความผิด ตามหลักกฎหมายอิสลาม แต่องค์กรดังกล่าวไม่ได้เรียกร้องให้สิงค์โปรยกเลิกการลงโทษด้วยการเฆี่ยนที่มีขึ้นภายใต้การปกครองของลีกวนยู

คณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการบังคับใช้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานของยูเอ็น (UN Convention against Torture) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับบทลงโทษในซาอุดีอาระเบีย เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2002 และแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ทางการซาอุฯ ปฏิบัติต่อบล็อกเกอร์ นักเคลื่อนไหว และนักสิทธิมนุษยชนที่นิยมตะวันตกซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

“รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้มีมาตรการใดๆ หรือไม่ที่จะยับยั้งการลงโทษทางกาย เช่น การเฆี่ยน และการตัดแขนขา ซึ่งเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาฉบับนี้” เฟลิซ แกร์ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็น ตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่ซาอุฯ เมื่อวันศุกร์ (22)

หัวหน้าคณะผู้แทนซาอุดีอาระเบีย ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังเตรียม “จัดทำประมวลกฎหมายอาญาใหม่ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขต และเพิ่มคำนิยามของการทรมานตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญายูเอ็น”

เขายืนยันว่า กฎหมายชารีอะห์ไม่ได้ขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ และ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทรมานของรัฐบาลซาอุฯ ก็มีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งพัฒนามาจากชารีอะห์ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน”

โดยปกติแล้ว คณะกรรมการต่อต้านการทรมานของยูเอ็นจะตรวจสอบประเทศต่างๆ ทุก 5 ปี โดยล่าสุดมีการพูดถึงกรณีซาอุดิอาระเบีย แต่ไม่พูดถึงสิงค์โปรที่มีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนเช่นกัน

แกร์ อ้างว่า คณะกรรมการได้รับแจ้ง “หลายกรณี” ที่ผู้ต้องหาอ้างว่า ถูกทรมานร่างกายให้รับสารภาพ และผู้พิพากษาซาอุฯ ก็ไม่ใส่ใจที่จะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร

เธออ้างถึงกรณีของ ราเอฟ บาดาวี บล็อกเกอร์ผู้ถูกศาลซาอุฯ ตัดสินลงโทษเฆี่ยน 1,000 ครั้ง และจำคุก 10 ปีฐาน “ดูหมิ่นอิสลาม” แต่สหภาพยุโรปกลับยกย่องพฤติกรรมของเขาด้วยการมอบรางวัล “ซาคารอฟ” ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติด้านสิทธิมนุษยชนให้

ความคิดเห็น

comments