เมื่อวันพฤหัสบดี (28 เมษายน) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสภาพอากาศร้อนในประเทศไทยขณะนี้ว่า เกือบทุกพื้นที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง บางพื้นที่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ จากสภาพอากาศร้อนจัด ซึ่งอาการพบได้ตั้งแต่ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชักไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-17 เมษายน พบผู้เสียชีวิตที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอากาศร้อนจำนวน 21 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 1 ราย อายุตั้งแต่ 29-72 ปี โดยเสียชีวิตนอกบ้าน ตามสถานที่สาธารณะ 13 ราย ในรถ 2 ราย วัด 1 ราย และภายในบ้าน 5 ราย ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุราช่วงอากาศร้อน และผู้มีโรคประจำตัว ส่วนข้อมูลปี 2558 พบผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อน 56 ราย มีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 33 ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมกลางแจ้งก่อนเสียชีวิต ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 16
นพ.อำนวยกล่าวต่อว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอน และ6.ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขอให้ดูแลสุขภาพตนเองโดยสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี ควรอยู่ภายในบ้านหรือในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ แลอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เพราะอุณหภูมิในรถจะสูงกว่าภายนอก ผู้ที่มีโรคประจำตัวถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ตะคริว หน้ามืด ขอให้พบแพทย์หรือโทร 1669 ขอความช่วยเหลือ