ม.มหิดลทำหมันยุงลายสำเร็จที่แรกของโลก เตรียมปล่อยสู่ธรรมชาติ

ม.มหิดล ทำหมันยุงลาย 2 ขั้นตอนสำเร็จที่แรกของโลก เตรียมปล่อยตัวผู้เป็นหมันออกสู่ธรรมชาติ นำร่องที่ ต.หัวสำโรง จ.ฉะเชิงเทรา ปลาย พฤษภาคม นี้ ช่วยลดปริมาณยุงลาย สกัดป่วย – ตาย ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ซิกา ไข้เหลือง ยันไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ พร้อมตั้งโรงงานผลิตส่งออกช่วยต่างประเทศ

วันนี้ (2 พฤษภาคม) ในการแถลงข่าวความก้าวหน้าโครงการทำหมันยุงลายเพื่อลดไข้เลือดออกของมหาวิทยาลัยมหิดล นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ม.มหิดล ร่วมกับทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ประเทศออสเตรีย และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีอาร์ซี) ประเทศแคนาดา ได้ทำการสนับสนุนทุนโครงการนำร่องเพื่อทำหมันยุงลายในประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคไข้ชิคุนกุนยา โรคไข้ซิกา และ โรคไข้เหลือง ซึ่งขณะนี้ถือว่า ม.มหิดล ประสบความสำเร็จในการทำหมันยุงลาย 2 ขั้นตอนเป็นที่แรกของโลก และเตรียมที่จะปล่อยสู่ธรรมชาติในพื้นที่ทดลอง ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ปลายเดือน พฤภาคม นี้ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมควบคุมโรค และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ไอเออีเอ ประเทศออสเตรีย และผู้เชี่ยวชาญในด้านการควบคุมยุงจากประเทศสวีเดน โดยมี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานที่ประชุม

“การทำหมันยุง 2 ขั้นตอน ยังไม่มีใครทำมาก่อน ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมาก หลาย ๆ ประเทศให้การยอมรับเทคนิคของเรา และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพเลยอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการทำเรื่องนี้ ถ้าสำเร็จเป็นรูปธรรมก็จะมีการผลิตยุงจำนวนมากเพื่อปล่อยทั้งประเทศ และมีการสร้างโรงงานผลิตยุงลายที่เป็นหมันส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย” นพ.อุดม กล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังสนใจให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลไปยังแหล่งท่องเที่ยวของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ป่วยไข้เลือดออกและกลับไปแพร่เชื้อในประเทศของตนเอง เชื่อว่า หากทำได้จะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้

ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ได้พัฒนายุงลายสายพันธุ์ที่ต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสไข้ชิคุนกุนยา ได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ ซึ่งสกัดได้จากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้านทั้งตัวผู้ และตัวเมีย จากนั้นก็นำมาฉายรังสีอ่อน ๆ ซ้ำ ก่อนจะปล่อยตัวผู้ออกสู่ธรรมชาติ เมื่อไปผสมพันธุ์ก็จะไม่สามารถมีลูกได้ และทำให้ยุงลายตัวเมียเป็นหมันด้วย เป็นการช่วยลดประชากรยุงที่มีเชื้อลงได้ และจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคที่นำโดยยุงลายได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ยุงที่ทำหมันด้วย 2 วิธีการ จะไม่กระทบต่อระบบนิเวศ เพราะมีวงจรชีวิตอยู่ได้ 2 – 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีการศึกษาการทำหมันยุงลายเหมือนกัน เช่น ที่ประเทศบราซิลใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) หรือประเทศจีน ใช้วิธีการใส่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปอย่างเดียวเท่านั้น

“ตามแผนจะปล่อยยุงตัวผู้ที่เป็นหมันปลาย พ.ค. อัตรา 5 – 10 เท่าของยุงลายบ้านในพื้นที่ซึ่งเคยสำรวจก่อนหน้านี้ พบว่า มียุงลายประมาณ 5 ตัวในบ้าน 1 หลัง แล้วประเมินผลหลังจากนี้อีก 6 เดือน ก่อนจะขยายผลทำทั้งประเทศ และจะสามารถทำโรงงานผลิตยุงตัวผู้ที่เป็นหมันได้ ถ้าทำได้จะลด 4 โรค ทั้งไข้เลือดออก ซิกา ชิคุนกุนยา และ ไข้เหลือง ซึ่งโรคพวกนี้ถ้าทำวัคซีนอย่างเดียวก็เสียเวลา เฉพาะไข้เลือดออกก็มีถึง 4 สายพันธุ์ แต่ถ้าใช้วิธีการนี้ควบคู่กับการใช้วัคซีน ยาก็จะยิ่งช่วยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น” ดร.ปัทมาภรณ์ กล่าว

นายยงยุทธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการทำหมันแมลงวันทอง ทำให้ลดประชากรแมลงวันทองได้มาก แต่ตอนนี้จะเอามาใช้ในยุงลายบ้าน ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจมาก ส่วนที่ประชาชนกังวลว่าทำไมยุงเพิ่มขึ้นนั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงยุงตัวผู้ที่ไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวาน ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล

ความคิดเห็น

comments