ที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลกด้านมนุษยธรรมจัดขึ้นที่เมืองอิสตันบูลของตุรกีเมื่อวันจันทร์ที่(23 พฤษภาคม)ผ่านมา เห็นชอบข้อตกลง “แกรนด์ บาร์เกน” (Grand Bargain) เพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะลดลงได้ถึงราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,600 ล้านบาท) ต่อปี และทำให้เงินช่วยเหลือไปถึงพื้นที่และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้มากขึ้น
ประเทศผู้บริจาค 21 ประเทศ และองค์กรด้านความช่วยเหลือ 16 แห่ง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานย่อยต่างๆ ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์กรกาชาดสากล เห็นชอบในข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีเงื่อนไข 51 ข้อ โดยคาดว่าจะทำให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้นมาอุดช่องโหว่ด้านงบประมาณราว 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 534,072 ล้านบาท) ต่อปี
โครงสร้างใหม่จะช่วยดึงดูดทรัพยากรจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคที่หลากหลาย ลดทอนเวลาในการดำเนินงานและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น กลุ่มประเทศผู้บริจาครายใหญ่อย่างสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ให้คำมั่นในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดสรรเงินทุน มุ่งเน้นไปที่โครงการระยะยาวที่จะให้การช่วยเหลือได้มากกว่าเพียงแค่สิ่งของจำเป็นพื้นฐาน ยกระดับระบบการกระจายเงินช่วยเหลือ และเพิ่มกระบวนการติดตามและตรวจสอบ
ภายใต้ข้อตกลงใหม่ จะมีการประเมินความต้องการความช่วยเหลือแบบประสานกัน เงินช่วยเหลือราวร้อยละ 25 จะถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศนั้นภายในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี 2556 ซึ่งจะช่วยยกระดับการทำงานรวมถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในแนวหน้า