ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซียในวันพุธ (25 พฤษภาคม) อนุมัติกฎหมายฉบับหนึ่งที่กำหนดให้การประหารชีวิตคือโทษขั้นสูงสุดของพวกที่ก่อเหตุข่มขืนเด็ก หลังเกิดกรณีแก๊งรุมโทรมเหยื่ออย่างโหดร้ายทารุณหลายคดีที่กระพือความโกรธแค้นของสาธารณชน
ปัญหาความรุนแรงทางเพศพบเห็นได้อย่างแพร่หลายในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ แต่คดีรุมข่มขืนเหยื่อนับเป็นเรื่องผิดปกติ
สื่อสังคมออนไลน์กระพือเสียงเรียกร้องให้เพิ่มบทลงโทษหนักหน่วงขึ้น ตามหลังคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยชายกลุ่มหนึ่งถูกตั้งข้อหารุมข่มขืนและฆ่าเด็กนักเรียนหญิงในเบงกูลู ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา
คดีนี้กระตุ้นให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ กล่าวหารัฐบาลว่าไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอสำหรับปกป้องผู้หญิงและเด็ก ส่วนนายวิโดโดเองก็โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ เสาะหาบทลงโทษแก่พวกที่กระทำผิด แม้ว่าเสียงเรียกร้องของเขามีขึ้นหลังเกิดเหตุมานานนับเดือนก็ตาม
ในวันพุธ (25) นายวิโดโดเผยกฎหมายที่เขาได้ลงนามไป ระบุผู้กระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เช่นเดียวกับพวกกระทำผิดทางเพศซ้ำซากก็อาจเผชิญกับโทษ Chemical castration (การตอนด้วยยา) และต้องสวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามความเคลื่อนไหว
“การกระทำรุนแรงทางเพศต่อเด็กคืออาชญากรรมที่ผิดธรรมดา” วิโดโดแถลงที่ทำเนียบประธานาธิบดี “กฎระเบียบนี้มีเจตนาพิชิตเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ซึ่งเราพบเห็นมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
อย่างไรก็ตาม เหล่านักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเตือนถึงการตัดสินใจอนุมัติโทษประหารชีวิตและตอนด้วยยาโดยอ้างว่า “ในคดีส่วนใหญ่ พวกผู้ก่อเหตุเป็นคนรู้จักของเหยื่อ และด้วยที่บทลงโทษรุนแรงมาก บางทีมันอาจขัดขวางเหยื่อในการเข้าแจ้งความ” ความเห็นของอันเดรียส ฮาร์โซโน จากองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก “ในขณะเดียวกัน บทลงโทษนี้ก็ไม่ได้จัดการกับความจำเป็นในการปกป้องเด็กผ่านรัฐสวัสดิการที่ดี”
รัฐบาลของนายวิโดโดใช้การลงโทษที่ตรงไปตรงมาควบคุมอาชญากรรมอย่างได้ผล โดยเมื่อปีทีแล้วอินโดนีเซียลงมือประหารพวกค้ายาเสพติดหลายคนด้วยการยิงเป้า ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มหลักที่นำความเสียหายมาสู่อินโดนีเซีย