องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุในวันอังคาร (14 มิถุนายน) ว่า บรรดาผู้อพยพเด็กที่เดินทางเสี่ยงภัยเข้ายุโรป เพื่อหลบหนีสงครามและความยากจน นอกเหนือจากความเสี่ยงที่จะจมน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยังเผชิญความเป็นไปได้ที่จะถูกทำร้าย ข่มขืน และบังคับใช้แรงงาน
รายงานชื่อ “เส้นทางที่อันตรายทุกย่างก้าว” ระบุว่า จำนวนผู้เยาว์มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้อพยพ และลี้ภัย โดยเฉพาะพวกที่พยายามเดินทางจากลิเบียไปอิตาลีทางทะเล
รายงานได้อ้างข้อมูลจากหน่วยงานผู้ลี้ภัยของยูเอ็น โดยระบุว่า ตัวเลขคร่าว ๆ 206,200 ราย ของผู้ที่ไปถึงยุโรปทางทะเลในปีนี้ นับถึงวันที่ 4 มิถุนายน ในจำนวนนั้นมี 1 ใน 3 เป็นเด็ก
“ทุกย่างก้าวของการเดินทางนั้นเต็มไปด้วยอันตราย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเด็กเกือบ 1 ใน 4 ที่เดินทางโดยไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครอง” ยูนิเซฟ ระบุ
อัตราส่วนพวกนั้นเพิ่มสูงขึ้นมากบนเรือที่มาจากลิเบีย โดยมีเด็กประมาณ 9 ใน 10 ที่ไม่มีผู้ร่วมเดินทาง
ยูนิเซฟ ระบุว่า มีหลักฐานหนักแน่นว่าพวกอาชญากรในเครือข่ายค้ามนุษย์ได้มุ่งเป้าไปที่ผู้อ่อนแอ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก
รายงานยังระบุอีกว่า พนักงานสังคมสงเคราะห์ของอิตาลี อ้างว่า ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงถูกคุกคามทางเพศและบังคับให้เป็นโสเภณีขณะที่อยู่ในลิเบีย เด็กหญิงบางรายตั้งครรภ์เมื่อมาถึงอิตาลี
มีเด็กจำนวนมากที่ตกหล่นในช่องโหว่ของระบบการขอลี้ภัย ซึ่งคำร้องของเด็กเหล่านี้ควรถูกจัดให้มีความสำคัญลำดับต้น ๆ
“บ่อยครั้งที่เด็กต้องอยู่หลังลูกกรง ทั้งในศูนย์ควบคุม หรือห้องขังของตำรวจ เพราะไม่มีที่ว่างในศูนย์พิทักษ์เด็ก รวมถึงศักยภาพที่มีจำกัดในการกำหนดทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา
ยูนิเซฟชี้หลายประเทศใช้เวลานานถึง 2 ปี ในการประเมินคำขอลี้ภัยของเด็ก แถมกระบวนการรวมตัวเป็นครอบครัวก็เชื่องช้าพอกัน
เมื่อไปถึงยุโรป ผู้อพยพและลี้ภัยมักจะต้องอาศัยอยู่ในโรงยิม อดีตค่ายทหาร หรือที่พักชั่วคราวอื่น ๆ บางครั้งก็ไม่ได้เรียนหนังสือและขาดการสนับสนุนด้านจิตวิทยา
บางรายต้องเผชิญการโจมตีจากความเกลียดชังชาวต่างชาติ การกล่าวร้าย และตราหน้าว่าไม่ดี โดยมีการอ้างอิงด้วยว่ามีเหตุลอบวางเพลิงศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยถึง 45 ครั้ง ในเยอรมันช่วงครึ่งปีแรก