กระทรวงพลังงานกางแผน 3 ระยะหนุนเกิดรถยนต์ไฟฟ้า(EV) 1.2 ล้านคันและสถานีชาร์จไฟ 690 แห่งในปี 2579 จ่อคลอดค่าไฟชาร์จรถและมาตรฐานสถานีชาร์จไฟ ส.ค.นี้ โดยสูตรค่าไฟจะกำหนดการสิ้นเปลืองพลังงานต่ำกว่า NGV เพื่อจูงใจ จ่อออกนโยบายใหม่ SPP Hybrid สร้างระบบไฟฟ้าเชื่อม EV สู่เมืองอัจริยะหรือ Smart City
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย(EV ปี59-79) โดยแบ่งเป็น 3 ระยะโดยระยะที่ 3 ที่จะเริ่มในช่วงปี 2564 เพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของแผนในปี 2579 กำหนดจะมีรถยนต์ไฟฟ้า(EV Passenger) จำนวน 1.2 ล้านคันและมีสถานีชาร์จไฟหรืออัดประจุไฟฟ้า (Charging Stations) จำนวน 690 สถานี พร้อมกับมีการพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าอัจริยะ(EV Smart Charging) ที่จะสอดรับกับนโยบายเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City
“รัฐจะมีการประกาศโครงสร้างค่าไฟฟ้าภาคขนส่งชั่วคราวและประกาศจดทะเบียนมาตรฐานสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าภายในสิงหาคมนี้เพื่อรองรับ โดยผู้ให้บริการจะต้องมายื่นจดทะเบียนต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ส่วนค่าไฟฟ้าชั่วคราวใช้ช่วงเวลาของวัน หรือทีโอยู หากชารจ์กลางคืนจะอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย กลางวัน 6 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้เกิดการชาร์จไฟฟ้าช่วงกลางคืน เพื่อลดการเกิดพีคในช่วงเวลากลางวัน โดยสูตรค่าไฟเบื้องต้นจะมีส่วนที่รัฐอุดหนุนไฟฟรีกรณีที่ใช้ไม่เกิน 50 หน่วย และมีต้นทุนสิ้นเปลืองพลังงานต่อกิโลเมตรของรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) “แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ระยะที่ 2 ปี 2561-63 จะเป็นช่วงงานวิจัยเข้มข้นที่จะส่งเสริมให้เอกชนร่วมวิจัยและพัฒนาสมรรถนะแบตเตอรี่ มาตรฐานรถ และสถานี กฏหมาย ขั้นตอนการอนุญาต ภาษีฯ รวมถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินงานที่สอดรับกับโครงการเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ที่มีเป้าหมาย สร้างให้เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนชุมชนด้วยดิจิทัลและแน่นอนระบบไฟฟ้าก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยกระทรวงพลังงานมีแผนที่จะพัฒนานโยบายใหม่ว่าด้วยนโยบาย SPP Hybrid + ยานยนต์ไฟฟ้า
โดยจะส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ผสมปผสานกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแต่ไมเกิน 10% เพื่อจำหน่ายไฟให้กับกฟผ. จ่ายไฟในเขต Smart City และ จำหน่ายไฟภาคขนส่งรถไฟฟ้า(EV) คาดว่าจะสามารถประกาศนโยบายใหม่ได้ภายในเร็วๆ นี้
สำหรับระยะแรก(ปี 2559-60 ) จะเป็นการเตรียมความพร้อมของการนำร่องในการทดลองใช้รถยนต์ EV และการพัฒนาสถานีชาร์จไฟรองรับ ซึ่งประกอบด้วยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ที่จะทำโครงการนำร่องเพื่อทดสอบการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า 20 คันเพื่อนำไปสู่การจัดหารถโดยสารสาธารณะ 200 คัน การนำร่องEV ทดลองใช้และสถานีประจุไฟ ภายในองค์กรได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.ปตท.
พร้อมกันนี้จะยังมีแผนส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายในการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับองค์กรรัฐและเอกชนอื่นๆได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สำนักงานออฟฟิศ หมู่บ้านอาคารชุด บริการสาธารณะ บริการท่องเที่ยว ที่มีเส้นทางประจำในการบริการในการจัดซื้อรถหรือลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งกำลังศึกษารูปแบบอยู่คาดว่าเร็ว ๆนี้จะสรุป