พลเรือเอกรายหนึ่งของจีนระบุว่า เสรีภาพในการเดินเรือตรวจการณ์ที่กระทำโดยทัพเรือของต่างชาติในทะเลจีนใต้ อาจลงเอยด้วยหายนะ นับเป็นคำเตือนที่ส่งไปถึงอเมริกา หลังคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการกรุงเฮกเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ของจีน
จีนไม่ขอมีส่วนร่วมในคำร้องที่ยื่นโดยฟิลิปปินส์ และปฏิเสธที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ที่ระบุว่าการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ของจีนนั้นไม่มีผล
นอกจากนี้ จีนยังแสดงท่าทีไม่พอใจต่อข้อเรียกร้องของอเมริกาและญี่ปุ่น ที่บอกให้จีนปฏิบัติตามคำตัดสิน
จีนระบุว่าอเมริกาเป็นตัวสร้างความปั่นป่วนในทะเลจีนใต้ อันเป็นเส้นทางเดินเรือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีมูลค่าทางการค้ามากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
จีน บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม คือบรรดาชาติที่ล้วนเป็นคู่กรณีในการการอ้างสิทธิ แต่จีนนั้นอ้างสิทธิ์กินพื้นที่มากที่สุด
สหรัฐอเมริกานั้นอ้างสิทธิในการเดินเรือตรวจการณ์เข้าไปใกล้เกาะเทียมของจีน สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลแดนมังกร ขณะที่ฝ่ายจีนก็มีการเพิ่มกำลังทางทหารในบริเวณนั้น
การพูดคุยในที่ประชุมแบบปิด เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ปักกิ่ง พล.ร.อ.ซุน เจี้ยนกัว รองประธานกรมเสนาธิการร่วม ของคณะกรรมการทหารส่วนกลางที่ทรงอำนาจ ได้ระบุว่า เสรีภาพในการเดินเรือตรวจการณ์คือประเด็นปัญหาที่หลายประเทศหยิบยกขึ้นมาอ้างมั่วบ่อยครั้ง
“เสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ได้รับผลกระทบตั้งแต่เมื่อไหร่กัน มันไม่เคยได้รับผลกระทบเลย ไม่ว่าจะในอดีตหรือตอนนี้ รวมถึงในอนาคตด้วย มันจะไม่มีปัญหาอะไรตราบเท่าที่ไม่มีใครมาเล่นตุกติก” เป็นคำกล่าวของนายทหารผู้นี้ ที่ระบุในเอกสารบันทึกการแสดงความเห็น แล้วรอยเตอร์ได้อ่านในวันจันทร์
ซุนระบุอีกว่า จีนคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายมัน
“อย่างไรก็ตาม จีนต่อต้านเสมอมา ถึงสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพในการเดินเรือทางทหาร ที่นำมาซึ่งการคุกคามทางทหาร อันเป็นการท้าทายและไม่เคารพต่อกฏหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเขตทางทะเล” ซุนกล่าว และว่า “เสรีภาพการเดินเรือทางทหารประเภทนี้กำลังสร้างความเสียหายให้แก่เสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และมันอาจถึงขนาดนำไปสู่เส้นทางหายนะ” เขากล่าวโดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม
ซุนบอกว่า การตัดสินคดีของศาลกรุงเฮกได้ถูกกองทัพจีนใช้เป็นตัวพัฒนาศักยภาพของกองทัพ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีแรงผลักดันเข้ามา กองทัพก็จะสามารถใช้เป็นตัวชี้ขาดในนาทีสุดท้าย เพื่อปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติ
อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานบริหารความปลอดภัยทางทะเลของจีน ระบุในวันจันทร์ว่า บริเวณพื้นที่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะไห่หนาน ในทะเลจีนใต้ ถือเป็นเขตห้ามเดินเรือระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากมีการซ้อมรบบริเวณดังกล่าว