ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีผลวิจัยมากมาย ที่ระบุว่า เด็กก่อนวัยเรียนได้รับผลข้างเคียงจากการเล่นแท็บเล็ต อาทิ ผลเสียต่อพัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการด้านสังคม และพัฒนาการด้านอารมณ์ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้เด็กก่อนวัยเรียนขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ขาดการเรียนรู้ เรื่องสำคัญที่จำเป็นจากสภาพแวดล้อม นอกจากนั้น การให้เด็กเล็กวัยต่ำกว่า 12 ขวบ อยู่กับแท็บเล็ตตามลำพัง ก็อาจเกิดความเสี่ยงให้เด็กมีสภาวะสมาธิสั้น และมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
ภัยเสี่ยงจากแท็บเล็ตต่อเด็กเหล่านี้ เชื่อว่า ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยได้เริ่มตระหนัก และสามารถรับมือได้แล้ว แต่ยังมีผู้ปกครองอีกมากมายที่เพิกเฉย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างที่ได้เห็นในหนังโฆษณาล่าสุดของ Advice IT ซึ่งหากมองลงไปให้ลึกอีกนิด จะเห็นว่า ตัวละครหลักอย่างพ่อแม่ของเด็กตัดสินใจซื้อแท็บเล็ตด้วยปริมาณเกมมากมายที่บรรจุอยู่ และซื้อเพื่อเป็นของเล่นให้ลูก โดยไม่ได้รับรู้ถึงความเหมาะสมต่อวัยของเด็ก รวมถึงผลเสียต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคต เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในสังคมยุคใหม่ ซึ่งต้องปรบมือให้กับเจ้าของหนังโฆษณาที่กล้านำเสนอเรื่องราวในมุมมองเชิงลบ และถ่ายทอดให้ผู้คนได้เห็น หรือฉุกคิดถึงสิ่งเป็นอยู่จริงในสังคมยุคใหม่นี้
อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายฉบับได้เผยถึงวิธีการใช้งานแท็บเล็ตที่เหมาะสมเอาไว้ด้วย อาทิ ผู้ปกครองควรร่วมเล่นกับบุตรหลานในเวลาที่เหมาะสม ไม่นานจนเกินไป จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์พร้อมกับจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีกว่าปล่อยให้บุตรหลานใช้แท็บเล็ตตามลำพัง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและกุมารแพทย์บางท่าน แสดงความเห็นว่า เยาวชนควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปี และได้รับการกำหนดระยะเวลาใช้งานแท็บเล็ต โดยระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่ที่ 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่ให้แท็บเล็ตมีความสำคัญ และบทบาทมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตจริง
แนะนำว่า ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานของท่านไปพบโลกกว้างภายนอก หรือพาไปทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่มีสาระอื่น ๆ เพราะ แท็บเล็ตไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะช่วยเสริมพัฒนาการของบุตรหลานได้ทั้งหมด แต่ผู้ปกครองเองต่างหากที่จะเป็นส่วนสำคัญในพัฒนาการของเจ้าตัวน้อย
ขอบคุณ MGR Online