แจงทุ่นตรวจวัดสึนามิไม่ทำงานจริง แต่มีระบบอื่นรองรับ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แจงข้อเท็จจริงทุ่นตรวจวัดสึนามิไม่แสดงสถานะทำงาน ระบุศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังสามารถใช้ทุ่นตรวจวัดสึนามิ ในโครงข่ายเดียวกับการเชื่อมโยงสัญญาณทั่วโลกของ NOAA ประเทศสหรัฐฯ ขณะที่อุปกรณ์ตรวจวัดระบบน้ำที่เกาะเมียง จ.พังงา สามารถใช้ยืนยันการเกิดคลื่นสึนามิได้อีกทางหนึ่งและแจ้งเตือนในการเตรียมความพร้อมป้องกันสึนามิ

วันจันทร์ (25 กรกฎาคม) นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จังหวัดภูเก็ต(ภาคประชาชน) ได้โพสต์ระบุทุ่นเตือนภัยคลื่นสึนามิ หมายเลข 23401 ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านตะวันตกของจังหวัดภูเก็ต ในทะเลอันดามัน ห่างจากฝั่ง 1,100 กิโลเมตร ไม่ส่งข้อความของคลื่นกลับมาเป็นเวลา 80 วัน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้ขอทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว จากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และได้รับคำชี้แจงจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับทุ่นตรวจวัดสึนามิดังกล่าว ซึ่งไม่แสดงสถานะทำงาน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559

ส่วนการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังสามารถใช้ทุ่นตรวจวัด สึนามิที่อยู่ในโครงข่ายเดียวกับการเชื่อมโยงสัญญาณระบบทุ่นตรวจวัดสึนามิทั่วโลกของ NOAA ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดสึนามิของประเทศอินเดียและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นทุ่นที่อยู่ใกล้กับทุ่นตรวจวัดสึนามิ 23401 ขณะที่อุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง จ.พังงา ก็สามารถใช้ยืนยันการเกิดคลื่นสึนามิได้อีกทางหนึ่งและแจ้งเตือนในการเตรียมความพร้อมป้องกันสึนามิ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีโครงการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในฝั่งอันดามันเพิ่มเติม ทั้งนี้ การดำเนินการติดตั้งและวางทุ่นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการติดตั้งทุ่นได้อย่างช้าประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้ ฉนั้นในส่วนของประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ มั่นใจได้ว่ากรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในทะเลจะมีการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างแน่นอน

ความคิดเห็น

comments