สงสัยป่วยโรคเมอร์ส สธ.กักตัวหนุ่มคูเวต พร้อมเฝ้าระวังญาติ-คนขับแท็กซี่

สธ.กักตัวหนุ่มคูเวต อายุ 18 ปี คาด ป่วยเมอร์ส พร้อมญาติ 2 คน และคนขับแท็กซี่ รวม 14 วัน ชี้ เป็นรายที่ 2 ของปี 59 เผยทราบชื่อผู้ร่วมโดยสารบนเครื่องบินและติดตามแล้ว วอนประชาชนอย่าตระหนก

MGR Online รายงานเมื่อวันเสาร์ (30 กรกฎาคม) ว่า นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สธ. ได้ตรวจพบผู้ต้องสงสัยน่าจะป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส เป็นชายชาวคูเวต อายุ 18 ปี ซึ่งเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับย่าและบิดา โดยวัตถุประสงค์เดิม คือ พาย่ามารักษาโรคเข่า แต่ชายอายุ 18 ปี รายดังกล่าว เริ่มมีไข้หวัดในวันที่ 26 ก.ค. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ทางโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำการรักษาอาการป่วยของย่าอยู่ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเอง ผลออกมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ก็พบว่า มีเชื้อ จึงได้แจ้งมากรมควบคุมโรค เพื่อให้รับตัวมาที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายตามประกาศของ สธ. ต่อไป โดยได้แยกตัวผู้ป่วยเอาไว้ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ

“อาการของผู้ป่วยตอนนี้ไข้ลดลง ส่วนอาการอื่น ๆ ไม่มีอะไร นับจากวันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นมา เป็นเวลา 14 วัน หากผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันว่า ไม่พบเชื้อแล้วก็จะอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ส่วนญาติอีก 2 คน ที่ถือเป็นผู้มีสัมผัสโรคความเสี่ยงสูงนั้น ก็รับเข้ามาดูแลที่สถาบันบำราศนราดูรด้วย พร้อมกับคนขับรถแท็กซี่ก็ตามตัวเข้ามาอยู่ในการดูแลเช่นเดียวกัน” นพ.อำนวย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดยังใช้ว่าผู้ที่น่าจะป่วย นพ.อำนวย กล่าวว่า ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ผู้ป่วยยืนยัน 2. กลุ่มที่น่าจะป่วยติดเชื้อ และ 3. กลุ่มที่ไม่แน่นอน ซึ่งต้องได้รับการดูแลตามมาตรการสูงสุดเท่ากันหมด ซึ่งกรณีของชายคนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มน่าจะป่วยติดเชื้อ เนื่องมีการส่งสารคัดหลั่งตรวจที่ห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ 4 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ผลยังไม่นิ่ง แต่ในทางการแพทย์จะนับว่ารายนี้เป็นผู้ที่น่าจะป่วย ต้องเข้าสู่ระบบการดูแล ซึ่งถือเป็นรายที่ 2 ของปี 2559 และรายที่ 3 ของประเทศไทย นับจากที่มีการเฝ้าระวังมา

เมื่อถามถึงผู้ร่วมโดยสารที่มากับเครื่องบินลำเดียวกันมีความเสี่ยงกี่คน นพ.อำนวย กล่าวว่า ขณะนี้ทราบชื่อ ทราบจำนวนหมดแล้ว จากนี้จะติดตามเพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามเกณฑ์ต่อไป ขอให้ประชาชนอย่าแตกตื่น หรือกังวล ขอให้มั่นใจในระบบการควบคุมป้องกันโรค ส่วนเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ก็มีการเฝ้าระวังกันตามเกณฑ์ที่เคยปฏิบัติมา ต้องถือว่าเป็นระบบที่มีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อทราบว่า มีผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลเอกชนก็รีบแจ้งมาทันที

ความคิดเห็น

comments