รัสเซียในวันอังคาร (2 สิงหาคม) ยืนยันพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 21 คน ในนั้นเสียชีวิตแล้ว 1 ราย หลังคลื่นความร้อนผิดปกติหลอมละลายชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ในพื้นที่ห่างไกลทางภาคเหนือสุดของประเทศ ปล่อยสปอร์ร้ายแรงออกมาจากพื้นดิน
“เคราะห์ร้ายที่ยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ 20 คน” โฆษกของเจ้าหน้าที่เขตปกครองยามาโล-เนเนตส์ บอกกับสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสติ พร้อมระบุว่ามีเด็กชายวัย 12 ปีเสียชีวิตในโรงพยาบาลเมื่อวันจันทร์ (1)
เจ้าหน้าที่ของเขตปกครองแห่งนี้บอกด้วยว่า จำนวนผู้ที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในความต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อโรคนี้เพิ่มเป็น 90 คน ในนั้นเป็นเด็ก 45 ราย
เหตุการณ์นี้นับเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์ในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 2,000 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1941
การแพร่ระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์คราวนี้เกิดขึ้น 1 เดือนตามหลังอุณหภูมิที่พุ่งทะยาน 35 องศาเซลเซียส ซึ่งหลอมละลายพื้นผิวด้านบนของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว และกระพือไฟป่า
“สปอร์แอนแทรกซ์รออยู่ในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวมานานกว่าศตวรรษ” หน่วยงานเฝ้าระวังด้านกสิกรรมกล่าว
ทั้งนี้ แอนแทรกซ์เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า บาซิลลัส แอนทราซิส เชื้อนี้สามารถทำลายได้ง่ายเช่นเดียวกับแบคทีเรียทั่วไป แต่ถ้าเชื้อถูกกับอากาศจะสร้างเกราะขึ้นมาห่อหุ้มป้องกันตัวเอง เรียกว่า สปอร์ ซึ่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี คุณสมบัตินี้เองที่ทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้นานหลายทศวรรษในพื้นดิน หนังสัตว์หรือขนสัตว์
การระบาดมักเกิดขึ้นภายหลังจากภาวะอากาศแห้งแล้ง ร้อนจัด เมื่อมีฝนตกลงมาชะล้างหน้าดินเชื้อที่อยู่ในดินจะโผล่มา และติดอยู่ เมื่อสัตว์มากินหญ้าอ่อนทำให้ได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย
โฆษกผู้ว่าการเขตปกครองยามาโล-เนเนตส์ เผยว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อนั้น รวมถึงครอบครัวหนึ่งที่รับประทานเนื้อกวางเรนเดียร์ดิบและดื่มเลือด พร้อมระบุว่าชนเผ่าเรเร่ร่อนนี้มีประเพณีของตนเอง
เวโรนากา สคาวอร์ตโซซา รัฐมนตรีสาธารณสุขรัสเซีย บินไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อเยี่ยมผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลและเขตกักกันโรค ขณะที่เจ้าหน้าที่เรียกร้องให้อยู่ในความสงบ ย้ำว่าไม่มีการแพร่ระบาดและได้ปิดกั้นพื้นที่ติดเชื้อแล้ว
กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ส่งทหารผู้ชำนาญการมากกว่า 200 นายพร้อมเฮลิคอปเตอร์และโดนหลายลำ เข้าขจัดสิ่งปนเปื้อนในเขตติดเชื้อและเผาซากสัตว์ที่ล้มตายจากการติดเชื้อ
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเผยว่าคนเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนมากกว่า 160 รายได้รับการอพยพพ้นเขตปนเปื้อน บริเวณที่พบซากกวางเรนเดียร์กว่า 2,300 ตัว
ทั้งนี้ ผู้คนราว 16,500 ในภูมิภาคดังกล่าวยังคงใช้ชีวิตแบบพเนจรตามวิถีดั้งเดิม โดยหากินด้วยการล่าสัตว์ ตกปลา และเลี้ยงกวางเรนเดียร์
มีความเป็นไปได้ที่การสืบสวนหาสาเหตุของเจ้าหน้าที่จะต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอให้สัตวแพทย์จัดการกับการแพร่ระบาดเสียก่อน