ไทยแพน เผยผลวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในกล้วยจีนในเชียงราย พบสารต้องห้าม เสี่ยงมะเร็ง 2 ชนิด อีก 5 ชนิด ตกค้างตามแหล่งน้ำ และดิน
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็ปไซด์เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) ได้เปิดเผยรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์สารเคมีในกล้วยจีน โดยทำการศึกษาร่วมกับอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างของกล้วย ดิน และน้ำ จากแปลงปลูกกล้วยของห้างหุ้นส่วนพญาเม็งรายจำกัด อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย ระหว่างการเข้าไปตรวจสอบติดตามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559 และได้จัดส่งตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างโดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
ไทยแพน เผยว่า จากการวิเคราะห์พบตัวอย่างน้ำ ดิน และกล้วย จากแปลงปลูกกล้วยหอมของจีนตกค้างสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารป้องกันและกำจัดเชื้อราจำนวนหลายชนิดทั้งๆ ที่มีการปลูกเป็นปีที่สองและมีการปลูกยังไม่เต็มพื้นที่ 2,700 ไร่ โดยหากมีการปลูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและปลูกเต็มพื้นที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะลำน้ำอิงและคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ยังพบว่ากล้วยที่มีขนาดตามมาตรฐานการส่งออกพบการตกค้างของสารกำจัดเชื้อรา Prochloraz ในดินพบการตกค้างของสาร 2 ชนิด ได้แก่สารกำจัดวัชพืช Glyphosate และสารกำจัดเชื้อรา Propiconazole น้ำจากแปลงปลูกพบ Propiconazole ในขณะที่น้ำในบ่อบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อจุ่มก่อนการบรรจุกล่องส่งออก พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด 5 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 1 ชนิด คือ Fipronil สารป้องกันและกำจัดโรคพืช 4 ชนิด ได้แก่ Difenoconazole, Carbendazim , Prochloraz และ Thiophanate Methyl
ทางไทยเเพน กล่าวว่า การตรวจครั้งนี้เป็นการตรวจเพื่อสำรวจผลเบื้องต้นโดยใช้จำนวนตัวอย่างน้อยและช่วงเวลาของการสุ่มตรวจเพียงช่วงเดียว อีกทั้งเป็นการเข้าไปตรวจสอบที่ได้นัดหมายผู้ประกอบการไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นผลการตรวจที่พบสารตกค้างในกล้วยไม่เกินระดับมาตรฐานจึงมีข้อจำกัดในการสรุปผลว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในระดับที่ปลอดภัยจริง
กรณีการตรวจสอบพบสารตกค้างในดิน 2 ชนิดนั้น ไทยแพนกล่าวว่า เป็นผลการตรวจที่ใช้ห้องปฏิบัติการในประเทศซึ่งมีข้อจำกัดที่สามารถตรวจสอบสารได้ประมาณ 30 ชนิดเท่านั้น(เนื่องจากการตรวจแบบครอบคลุมต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง) ดังนั้นควรดำเนินการจัดส่งตัวอย่างดินและน้ำไปตรวจโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวิเคราะห์สารได้เป็นจำนวนมากต่อไป
“การตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นการเก็บตัวอย่างดินจากพื้นที่การปลูกกล้วยผ่านไปเพียง 2 ปี ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อมีการปลูกกล้วยในระยะยาวติดต่อกันหลายๆปี อาจมีการสะสมของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในดินมากกว่านี้”
อย่างไรก็ตามการพบไกลโฟเสทซึ่งเป็นสารที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง(ชั้น 2A) บ่งชี้ว่าปัญหาการตกค้างของสารเคมีในดินและน้ำควรเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามใกล้ชิดต่อไป เพราะสารเคมีที่ก่อมะเร็งไม่ควรตกค้างในดินและน้ำเลย
ไทยแพน กล่าวอีกว่า ผลการตรวจครั้งนี้ชี้ว่ามีการใช้สารป้องกันและกำจัดเชื้อราหลายชนิด โดยเฉพาะในบ่อจุ่มสารเคมีเพื่อเตรียมการบรรจุและส่งออก เมื่อมีการปลูกและส่งออกกล้วยเป็นจำนวนมากจนเต็มพื้นที่ หรือมีการปลูกติดต่อกันนานหลายปี สารเคมีดังกล่าวจะถูกสะสมในดินและไหลชะล้างไปยังแม่น้ำอิงและสะสมในน้ำใต้ดินซึ่งจะกระทบกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและประชาชนที่อยู่ปลายน้ำในที่สุด