บิ๊กตู่ ยอมรับ งัดม.44 สู้ปมบิดเบือนศาสนา เจ้าคุณประสารถาม “เพื่ออะไร?”

เมื่อเวลา 14.00 น.วันอังคาร (23 สิงหาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ากรณีเหตุระเบิดและวางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนว่า ฝ่าย ความมั่นคงชี้แจงมาแล้วมีอยู่ 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย(นปป.)ที่ต้องไปดูว่ามีการละเมิดกฎหมายอะไรบ้างจะเกี่ยวไม่เกี่ยวก็ว่ากันอีกที เอาเป็นว่าผิดกฎหมายอะไรหรือเปล่าทำความผิดอะไรบ้างจะมาบอกว่าไม่มีศักยภาพเป็นคนแก่แล้วผิดกฎหมายไหมเล่ามีการละเมิดอะไรบ้างหรือเปล่า สองคือเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีเหตุการณ์อยู่แล้วในปัจจุบันต้องไปดูว่าเกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่า ซึ่งได้มีการจับกุมได้มาหลายรายแล้วมองว่าจะมีความเกี่ยวข้องหรือเปล่าแต่ไม่ใช่กรณีที่ว่าจะขยายขัดแย้งมานอกพื้นที่คงไม่ใช่ประเด็นนั้น และสามคือการเมืองที่ไปขยายความขัดแย้งในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องการศึกษาที่ทำให้มีความไม่เข้าใจกัน มีคนฉวยโอกาสตรงนี้ดังนั้นต้องมาดูความเชื่อมโยงตรงไหนอะไรอย่างไร แต่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่ายังไม่ทิ้งอะไรสักอัน จะโยงก็ได้ไม่โยงก็ได้แล้วแต่หลักฐานต้องสอบ ใจเย็นๆก็จับกันได้หลายคนแล้วเดี๋ยวจะได้ความชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่เกี่ยวกับกลุ่มมาลาปาตานีเป็นคนละเรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่จับกุมผู้ต้องหามาได้มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่สรุปๆเพิ่งจับมายังไม่ได้สอบชัดเจนเลยต้องเรียกมาสอบก่อนตอนนี้จับมาแล้ว จับมาทุกวัน การจับกุมมาสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายทำได้อยู่แล้ว อย่าไปมองว่าจับมาแล้วปล่อยเพราะจับผิดตัวจับแพะไม่ใช่ เมื่อมีหลักฐานในกล้องวงจรปิดก็ต้องเชิญตัวมา ถ้าไม่ผิดต้องปล่อยกลับไปก็เท่านั้น

เมื่อถามว่า ที่บอกว่ามีการจับผู้ต้องสงสัยมาเพิ่มเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับ 20 คนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระบุไว้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ใช่ๆเขาจับมาทีละคน มันไม่ได้จับง่ายทีเดียว 20 คนเมื่อไหร่เล่า เขาก็สอบมีแผนผังโยงกันไป ที่จับได้ก่อนก็จับไปที่จับไม่ได้ได้วิ่งหนีอยู่แถวนั้น เมื่อถามย้ำว่า กลุ่มนี้คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผบ.ตร.พูดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็มีรุ่นใหม่รุ่นเก่าก็ทั้งนั้นแหละมันก็แล้วแต่ คนรุ่นใหม่มันมาจากเรื่องที่มันต่อสู้เดิมและก็ปลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐธรรมนูญ บิดเบือนเรื่องศึกษาเรื่องกฎหมาย ผมก็ออกมาตรา 44 ไปให้แล้วเรื่องการศึกษากับเรื่องศาสนา ถึงแม้ว่าคำสั่งผมเป็นกฎหมายมันแก้ไขได้ แต่ถามว่ารัฐบาลไหนจะกล้าแก้ประชาชนจะยอมไหมเล่า เรื่องการศึกษา 15 ปีกับเรื่องสนับสนุนทุกศาสนา นี่แก้ให้เกิดความชัดเจน จริงๆไม่ได้มุ่งหวังกดศาสนาอื่นเพียงแต่เอ็นการคิดแบบกฎหมายบ้างอะไรบ้างผมก็เติมให้สำเร็จครบถ้วนจะได้ไม่บิดเบือน จริงๆแล้วถ้าผมหวังเพื่อให้ผมได้รับคะแนน ผมก็ทำก่อนหน้าประชามติ ผมก็มาแก้อะไรที่มีปัญหาไม่มีความเข้าใจวันหน้ารัฐบาลใหม่ก็แก้ได้หมดแต่ถามว่าจะกล้าแก้ไหมเพราะคือกฎหมายแล้ว เข้าใจหรือยัง

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์(ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย(ศพศ) ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งที่ คสช. ที่ 49/2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย โดยสาระสำคัญกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สํานักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เป็นต้น ร่วมกันกําหนดมาตรการ และกลไกในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ของศาสนิกชนของทุกศาสนา และกําหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ตลอดจนการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ชาวต่างชาติเกี่ยวกับข้อพึงปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติในเรื่องทางศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน, ให้ พศ. และกรมการศาสนา(ศน.) รายงานความก้าวหน้าในการดําเนินการตามคําสั่ง พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนแนวทางแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีทราบทุก 3 เดือน ว่า นายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรื่องศาสนา มองผิวเผินดูเป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐจะเข้ามาช่วยให้กิจการภายในระหว่างศาสนาทุกศาสนามีความสัมพันธ์ในทางที่ดีขึ้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา พยายามผลักดันแนวทางปฏิรูป ขณะนี้แนวทางทั้ง 4 ด้านนั้นถูกผลักดันให้ไปเขียนลงในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติซึ่งปรากฏในมาตราที่ 67 เป็นการย่อยรายละเอียดของการปฏิรูปทั้ง 4 ด้านลงไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างกระชับที่สุด เห็นได้จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาฯ เรื่องให้ฝ่ายอาณาจักรเข้ามาช่วยฝ่ายศาสนจักรนั้น มาปรากฏชัดในการใช้อำนาจตามมาตราที่ 44 ในครั้งนี้

“ต้องถามตรงๆ ว่าจะเข้ามาช่วยอุปถัมภ์คุ้มครอง หรือทำความเข้าใจระหว่างศาสนา หรือว่าเจตนาของรัฐตรงกับเจตนาของคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาฯ ในการเข้ามาควบคุมกิจการภายในของศาสนาโดยเฉพาะคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เช่น การให้ประชาชนมีส่วนร่วม การมีมาตรการป้องกันและแก้ไข ทั้งหลายนี้ดูสอดรับกันเป็นระบบ หรือนี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาฯ ในการยืมมืออำนาจรัฐเข้ามาจัดการกิจการภายในของศาสนาโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาหรือไม่” พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว

ความคิดเห็น

comments