เขื่อนบางลางถึงคราววิกฤต หลังน้ำลดต่ำสุดในรอบ 35 ปี ในขณะที่หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง ระบุ ต้องปล่อยน้ำลดลงเพื่อยืดเวลา ส่งผลกระทบชาวบ้าน ทุกฝ่ายต่างร่วมหารือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทหารใช้ ฮ.บินตรวจพื้นที่พบป่าถูกลอบตัดจำนวนมาก
วันพุธ (23 สิงหาคม) ที่ห้องประชุมอาคารสำนักข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลเอก มณี จันทร์ทิพย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง ประกอบด้วย นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายคติ ชนนีบำรุง หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา นายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำชลประทานยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ร้อยตำรวจโท อรุณ กุลกัลยา รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าว หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ยะลา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบปัญหา และประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง หลังเกิดวิกฤตหนัก ปริมาณน้ำลดต่ำสุดในรอบ 35 ปี จากปัญหาแล้ง
โดยนายคติ ชนนีบำรุง หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้สรุปภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางจากรายงานล่าสุดให้กับที่ประชุมรับทราบว่า เมื่อเวลา 14.00 น. มีปริมาตรน้ำ 452.87 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาตรน้ำทั้งเขื่อน โดยสามารถใช้น้ำได้ 176.59 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15 เท่านั้น จากนั้นได้มีการรายงานข้อมูลต่างๆ ในที่ประชุม ถึงความเสี่ยง ปริมาณน้ำฝน และการทำฝนหลวง เพื่อที่จะมีการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลาง
นายคติ ชนนีบำรุง หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับน้ำในเขื่อนขณะนี้สามารถใช้ได้เพียงร้อยละ 15 คือ 176 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นถ้ามีการละบายน้ำออกวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้กับทางชลประทานและผู้ใช้น้ำ ซึ่งได้ลดลงจากวันที่ 17 สิงหาคม ที่ปล่อยวันละ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อยืดเวลาออกไป ซึ่งถ้าไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนหลังจากวันนี้ ก็จะมีน้ำใช้อีกประมาณ 80 วัน
ทั้งนี้จากสถิติพบว่าฝนจะตกในช่วงเดือนตุลาคมของทุกๆ ปี เป็นต้นไป จนถึงธันวาคม ซึ่งก็เอาความแน่นอนได้และไม่สามารถคาดเดาได้ ฉะนั้นความเสี่ยงที่เรามีอยู่ขณะนี้ แค่เดือนกันยายนก็จะมีปัญหาแล้ว สถานการณ์ดูแล้วแล้งมากกว่าปกติ ชาวบ้านบอกว่าในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าบ่อน้ำแห้ง แต่ปีนี้น้ำแห้ง ตนเองในฐานะที่ดูแลการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ดูแลต้นน้ำก็ได้ทำหนังสือมายัง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ช่วยประสานงานดูแลผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ว่าจะทำอย่างไรที่จะต่อสู้กับธรรมชาติในการบริหารน้ำที่เหลืออยู่อีกแค่ 176 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนในเรื่องของฝนหลวง ทางชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ประสานงานกัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องกระแสลม ถ้าเกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะทำฝนหลวงไม่ได้ ลมต้องไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถึงจะทำฝนหลวงได้ ภายในเงื่อนไขมีความชื้นเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ผล เนื่องจากอ่างเก็บน้ำของเราเล็ก พื้นที่รับน้ำเพียง 2,080 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อ่างมีแค่ 50 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเมื่อทำฝนหลวงแล้วมาเจอลมพัด ฝนก็ไปลงทะเลหมดนี่คือปัญหา ปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนบางลางถือเป็นครั้งที่วิกฤตที่สุดในรอบ 35 ปี ตั้งแต่สร้างเขื่อนมา ซึ่งหากฝนมาตกในช่วงเดือนตุลาคม นี้ ก็เชื่อว่าจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ขณะที่ ร.ต.ท.อรุณ กุลกัลยา รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าว หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ยะลา เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขื่อนบางลาง จ.ยะลานั้น สืบเนื่องมาจากการบุกรุกป่าไม้ในพื้นที่ อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น พื้นที่ป่าไม้เหนือเขื่อนบางลาง ทั้งป่าฮาลา และป่าสิริกิติ์ ที่มีอยู่กว่า 8 แสนไร่ ครอบคลุมเนื้อที่ 2 จังหวัด คือ ยะลา และ นราธิวาส ได้ถูกบุกรุกแผ้วถ่างป่าไปแล้วจำนวนมาก
โดยล่าสุด พลโท วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 พลเอกมณี จันทร์ทิพย์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช รอง ผอ.รมน.ภาค 4 พล.ต.ต.สมเกียรติ เนื้อทอง ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 ได้สั่งการเร่งด่วนให้มีการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฮาลาบาลา ป่าสิริกิติ์ เหนือพื้นที่เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง ขาดแคลนอย่างหนัก จนใกล้จุดวิกฤต สืบเนื่องจากการลักลอบเข้าไปบุกรุกป่าไม้ในพื้นที่เหนือเขื่อนบางลาง เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา จากการขึ้นบินสำรวจพื้นที่ป่า พบว่ามีป่าไม้ถูกบุกรุกไปแล้วจำนวนกว่า 200 ไร่ และที่หนักสุดคือในปี 2554 พบว่า มีการบุกรุกป่าไม้มากที่สุดในพื้นที่เหนือเขื่อนบางลาง จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางลดลงจนเกิดสภาวะขาดแคลนน้ำในอยู่ขณะนี้ ขณะปัญหาในการเข้าตรวจสอบพื้นที่นั้นเป็นไปได้ยากยิ่ง เนื่องจากกลุ่มผู้ลักลอบบุกรุกป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าสิริกิติ์ กลุ่มผู้กระทำความผิดไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมักจะเข้าไปบุกรุกแผ้วถางป่าไม้ในพื้นที่ห่างไกลที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะเดินทางไปถึงได้ โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปโค่นเอาไม้ขนาดใหญ่ และจับจองพื้นที่เป็นของตนเอง จากแนวกลางป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำการตรวจพบได้ ยกเว้นการขึ้นบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น