นายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ก่อนการหารือสันติภาพระหว่างอองซานซูจี และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ของประเทศจะเปิดฉากขึ้นในวันพุธ (31 สิงหาคม)
ชาวโรฮิงญา 1.1 ล้านคน ในพม่าจะไม่มีตัวแทนเข้าร่วมในการประชุมที่จะเริ่มขึ้นในวันพุธ แต่การที่นายบัน คี-มูน ยกประเด็นชะตากรรมของชาวโรฮิงญา และใช้คำจำกัดความว่า “โรฮิงญา” ซึ่งกลุ่มพุทธหัวรุนแรงอ้างว่าเป็นคำที่สร้างความแตกแยกในพม่า อาจเพิ่มแรงกดดันจากต่างชาติต่ออองซานซูจี ในการจัดการกับประเด็นปัญหาดังกล่าว
“รัฐบาลได้รับประกันกับผมเกี่ยวกับความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับต้นตอของปัญหานี้ เหมือนกับทุกคน พวกเขาต้องการและสมควรที่จะได้รับอนาคต ความหวัง และศักดิ์ศรี” บัน คี-มูน กล่าวแถลงข่าวในกรุงเนปีดอ
เลขาธิการสหประชาชาติ และอองซานซูจี ได้พบกับผู้สื่อข่าว ในขณะที่เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพดำเนินการผลักดันที่จะยุติการสู้รบยาวนานหลายสิบปีระหว่างกองทัพพม่า และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์
ซูจี ชูกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้นของการบริหารประเทศ ที่เผชิญต่อความคาดหวังสูงลิ่วทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศ หลังพรรคของซูจี กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งเดือน พฤศจิกายน ก้าวเข้าสู่อำนาจ และยุติการปกครองของทหารมากกว่าครึ่งศตวรรษ
แต่ความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธหัวรุนแรง และชาวมุสลิมในภาคตะวันตกของพม่า ไม่ได้ถูกจัดการในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพ
กลุ่มหัวรุนแรงที่นำโดยมะบะทาพยายามอ้างว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ 135 กลุ่ม ที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย และซูจีได้ร้องขอให้บรรดานักการทูตต่างชาติ และผู้นำงดเว้นการใช้คำจำกัดความว่า “โรฮิงญา” หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มมะบะทาก่อนหน้านี้
ชาวโรฮิงญา ราว 120,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) นับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ ในปี 2555
“ผมได้ถ่ายทอดความวิตกของประชาคมโลกเกี่ยวกับประชาชนหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในสภาพที่ยากลำบากอย่างยิ่งในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมาเป็นเวลากว่า 4 ปี” บัน คี-มูน กล่าว
บัน ยังกล่าวเสริมว่า หากคนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ทั้งหมดควรได้รับสถานะทางกฎหมาย และสิทธิความเป็นพลเมืองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และครอบครัวชาวโรฮิงญาจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ในพม่ามาเป็นเวลายาวนาน
เมื่อสัปดาห์ก่อน ซูจี เลือกนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้นำคณะกรรมการในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่