DSI ลุยสอบแชร์ลูกโซ่เฟซบุ๊กระบาดชายแดนใต้ ปชช.ถูกหลอกแล้วกว่า 100 ราย

DSI ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อเร่งการสืบสวนสอบสวนธุรกิจออนไลน์ หลังพบเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน พบมีการแพร่หลายในกลุ่มนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตือนเฝ้าระวังเฟซบุ๊กชื่อ “หุ้นปันผล รายอาทิตย์ บ้านเซีย” ใครชักชวนผู้อื่นอาจถูกดำเนินคดีได้

วันพฤหัสบดี (1 กันยายน) ผู้สื่อข่าว MGR Online รายงานว่า ที่ห้องประชุมลังกาสุกะ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เพื่อสืบสวนสอบสวนกรณีคดีความผิดแชร์ลูกโซ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพฤติกรรมของคนร้ายคือ การใช้แอปพลิเคชันเฟซบุ๊กชักชวนผู้เสียหายให้ซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 2,000 บาท อ้างว่าจะได้เงินปันผลเป็นรายสัปดาห์ อัตรา 300-600 บาทต่อหุ้น มีผู้เสียหาย 100 ราย จากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และกำลังระบาดหนักอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่

นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กล่าวว่า ยังพบว่ามีการหลอกลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำเงินมาลงทุนอีกหลายกลุ่ม กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอฝากเตือนไปยังประชาชน นักเรียน นักศึกษาให้ระมัดระวังในการชักชวนให้ลงทุนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่อ้างว่ามีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กำลังเร่งดำเนินการสอบสวน และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดแชร์ลูกโซ่อีกหลายคดี ซึ่งคาดว่าจะทยอยแจ้งข้อกล่าวหา และออกหมายจับผู้กระทำความผิดอีกหลายคดี

ซึ่งจากสอบสวนเบื้องต้น พบว่า มีบุคคลใช้วิธีการประกาศโฆษณาทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ชื่อ “หุ้นปันผล รายอาทิตย์ บ้านเซีย” ชักชวนให้ประชาชนทั่วไป และนักเรียน นักศึกษาเข้าซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 2,000 บาท ตกลงว่าจะจ่ายเงินปันผลเป็นรายสัปดาห์ อัตรา 300-600 บาทต่อหุ้น จนครบ 4 สัปดาห์ ถือเป็นหนึ่งรอบ จะได้รับเงินลงทุนในหุ้นคืนพร้อมเงินปันผล

การจ่ายเงินลงทุนได้มีการโอนเงินซื้อหุ้นตามจำนวนมูลค่าหุ้นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารชื่อบัญชีบุคคลที่จัดตั้ง ในช่วงแรกมีการจ่ายเงินปันผลตามที่ตกลงไว้ แต่ต่อมาไม่มีการจ่ายเงินปันผลและไม่คืนเงินทุนที่ได้ลงทุนไป ทำให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหาย โดยผลตอบแทนที่ได้รับคิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน คิดเป็นรายปีประมาณร้อยละ 240 บาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินกำหนด อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 4 และมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527

“จากการสืบสวนพบว่า กำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มนักศึกษาที่เรียนจบใหม่ๆ ยังหางานทำไม่ได้ มีการรวมตัวกันเปิดเฟซบุ๊กเพื่อชวนเพื่อนมาร่วมลงทุนอาจถูกดำเนินคดีได้ถ้าพบการกระทำผิดจริง จะทำให้เสียอนาคตได้ จึงอยากเตือนให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อใครง่ายๆ” นายปิยะศิริ กล่าว

ความคิดเห็น

comments