ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก ‘สนธิ ลิ้มทองกุล-พวก’ 3 ราย รวม 20 ปี เหตุทำเอกสารเท็จค้ำประกันให้บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ กู้แบงก์กรุงไทยกว่าพันล้าน ต่อมาถูกเบี้ยวทำให้ต้องชดใช้เงินกว่า 259 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี แก่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เยาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.วยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บริษัท แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
กรณีช่วงปี 2540 ได้ร่วมกันทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จว่า มีมติให้บริษัท แมเนเจอร์ฯ เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่นายสนธิเป็นผู้ถือหุ้น กับธนาคารกรุงไทย รวม 6 ครั้ง เป็นเงินกว่า 1,078 ล้านบาท โดยนายสนธิ นายสุรเดช และ น.ส.เยาวลักษณ์ ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท ต่อมาบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ผิดนัดชำระเงินกู้ ส่งผลให้บริษัท แมเนเจอร์ฯ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงไทยเป็นจำนวน 259 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังร่วมกันให้มีการเปลี่ยนแปลงตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวซึ่งถือเป็นรายการที่ทำให้รายได้ของบริษัท แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และต้องนำส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว
ทั้งนี้ศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่นายสนธิกับพวกฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่า การทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และมีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฎีกาของนายสนธิกับพวกจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่นายสนธิกับพวกฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เห็นว่า บริษัทของนายสนธิกับพวกเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องมีหลักธรรมมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัท ขณะที่การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรง ส่งผลกระทบจำนวนมาก การที่นายสนธิกับพวกอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้
ศาลพิพากษาว่า ฏีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุกนายสนธิ และ น.ส.เยาวลักษณ์ 85 ปี นายสุรเดช 5 ปี น.ส.วยุพิน 65 ปี โดยทั้งหมดให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกนายสนธิ และ น.ส.เยาวลักษณ์ 42 ปี 6 เดือน ส่วนนายสุรเดช 2 ปี 6 เดือน และ น.ส.วยุพิน 32 ปี 6 เดือน แต่โทษสูงสุดในฐานความผิดดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษนายสนธิ น.ส.เยาวลักษณ์ และ น.ส.วยุพิน 20 ปี ส่วนนายสุรเดช ไม่ติดใจอุทธรณ์
ต่อมาในชั้นศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก นายสนธิ น.ส.เยาวลักษณ์ และ น.ส.วยุพิน 20 ปี เช่นเดิม ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 20 ปี ในที่สุด
ขอบคุณ isranews