พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.ร่วมกับบริติช เคานซิล จัดโครงการศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค ซึ่งจะดำเนินการครอบคลุม 8 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายคือ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาชีวศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมการอบรมพัฒนายกระดับความสามารถภาษาอังกฤษ และเทคนิคการสอนตามรูปแบบ Communicative Approach อย่างเข้มข้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ที่ศูนย์อบรมภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค 8 ศูนย์ จำนวน 17 รุ่น รุ่นละ 75 คน ซึ่งในระยะแรกปี 2559-2560 ตั้งเป้าจะอบรมครูภาษาอังกฤษได้ 5,100 คน และภายในปี 2561 จะขยายผลจัดตั้งศูนย์เพิ่มเติมอีก 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้อบรมครูได้อีกประมาณ 15,000 คน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากบริติช เคานซิล ในการพัฒนาหลักสูตรมาตรฐานระดับสากล พร้อมส่งวิทยากรต่างชาติผู้เชี่ยวชาญด้านการอบรมครูประจำศูนย์ ศูนย์ละ 3 คนตลอดระยะเวลาของโครงการระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560
“โลกยุคปัจจุบันคือการสื่อสารแบบไร้พรมแดน เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลในยุคดิจิทัล เพื่อเข้าสู่องค์ความรู้ ดังนั้น หากเรามีความรู้ทางภาษาการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งผลสำรวจจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เรื่องทักษะภาษาอังกฤษ ไทยรั้งท้ายในลำดับโลก และอยู่ในลำดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ขณะที่คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วิชาภาษาอังกฤษไม่ถึง 50 คะแนน ที่ ศธ.มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนสอนภาษาอังกฤษหลายครั้ง เพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ล่าสุด ศธ.จะปรับปรุงหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 2 (ป.1-3) เรียน 5 คาบต่อสัปดาห์ และวางแผนการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ที่จะไม่ใช่การเน้นแต่ไวยากรณ์แบบที่ผ่านมา โดยเริ่มทันทีเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558″ พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ร่วมจัดทำกรอบมาตรฐานภาษาอังกฤษของไทยเสร็จเรียบร้อย ซึ่งจะวัดระดับสมรรถนะความสามารถทางภาษาอังกฤษของบุคคลนั้นๆ ได้ว่าอยู่ในระดับใด จากนี้จะต้องประชาสัมพันธ์ให้มหาวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้องรับทราบ ก่อนจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป