รมว.ยุติธรรม เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการ 3 คณะ เร่งรัดการปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ ตามทิศทางยาเสพติดโลก (UNGASS 2016)
วันศุกร์ (14 ตุลาคม) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการฯ 3 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด 2. คณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน และ 3. คณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร
โดยมี พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พล.อ.อภิชัย หงษ์ทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. นางนฤมล ช่วงรังษี รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และ ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำสั่ง ศอ.ปส.ที่ 8-9 และ 10/2559 เข้าร่วม
การจัดประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2/2559 เพื่อติดตามความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ พร้อมมอบนโยบายและให้แนวทาง ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน หลังมติคณะกรรมการ (ศอ.ปส.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.59 เห็นชอบให้มีการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ต่อมาได้มี คำสั่ง ศอ.ปส.ที่ 8/2559 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2559 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด โดยมี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการบำบัดรักษาทั้ง 3 ระบบการพัฒนาระบบสุขภาพการดูแลผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และการพัฒนามาตรฐานสาธารณสุขรองรับกฎหมายใหม่
ภายหลังจากการถ่ายโอนระบบการบำบัดรักษาให้กระทรวงสาธารณสุข เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 59 พร้อมขับเคลื่อนงานอย่างเต็มรูปแบบภายในวันที่ 1 พ.ย. 59 ทั้งนี้ ได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดจัดตั้งหน่วยงานยาเสพติดเพื่ออำนวยการและกำกับการดำเนินงานใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด/อำเภอ และระดับหน่วยสถานพยาบาล รวมทั้งเข้าไปดำเนินงานและกำกับการบำบัดรักษาใน ทุกระบบ มีศูนย์คัดกรองในโรงพยาบาลระดับอำเภอ จำนวน 916 แห่ง
ส่วนผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ตามคำสั่ง ศอ.ปส.ที่ 9/2559 มีเป้าหมายเพื่อปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามทิศทางยาเสพติดโลก (UNGASS 2016) ปรับกฎหมายเพื่อความสมดุลและยุติธรรม มีบทลงโทษที่เหมาะสมและได้สัดส่วน เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือเชิงเศรษฐกิจจากพืชเสพติดได้รับประโยชน์มากขึ้นภายใต้การควบคุมอย่างเหมาะสม ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิเคราะห์ตามลำดับความยากง่ายของการใช้และลักษณะของพืชหรือสารเสพติด แต่ละประเภท ดังนี้ 1. เฮมพ์ หรือกัญชง 2. พืชกระท่อม 3. กัญชา และ 4. เมทแอมเฟตามีน โดยขณะนี้ เฮมพ์ หรือกัญชง ได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนพืชกระท่อมอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมก่อนได้ข้อสรุปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อไป ส่วนกัญชา และเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า อยู่ระหว่างการรวบรวมและศึกษาข้อมูล
สำหรับคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร ตามคำสั่ง ศอ.ปส.ที่ 10/2559 มีเป้าหมายคือ เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ เข้าใจในเจตนารมณ์ และมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายยาเสพติด รวมถึงการเชื่อมั่นในระบบของการบำบัดรักษา และสังคมให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดได้มีชีวิตปกติ ที่ผ่านมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ อีก 2 คณะ รวม 6 ครั้ง เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน และกำหนดโรดแมปการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีผู้บริหารสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมประชุม ผลที่ได้รับคือผู้บริหารสื่อมวลชนได้รับข้อมูลและเข้าใจแนวทางที่ถูกต้องชัดเจน และทั้งหมดมีทัศนคติต่อการปรับนโยบายฯ ในเชิงบวก รับฟัง ยอมรับ และเห็นด้วยต่อทิศทางแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่
สำหรับการดำเนินการช่วงต่อไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบบำบัดรักษา ผู้เสพ/ผู้ติด คือ ผู้ป่วย และเชิญชวนให้เข้ารับการบำบัด การเปลี่ยนชีวิตใหม่ภายหลังการบำบัด และการได้รับโอกาสมีอาชีพหลังจากผ่านการบำบัด ได้มีการผลิตสื่อต่างๆ ดังนี้ โฆษณาสั้นทางโทรทัศน์และวิทยุ คลิปประชาสัมพันธ์ กิจกรรมสร้างกระแสทางสื่อสังคม ป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ในพื้นที่และซีดีเสียงตามสายข้อความชุดความรู้เพื่อเผยแพร่ผ่านทางหอกระจายข่าวในหมู่บ้านชุมชน โดยกำหนดเผยแพร่สื่อช่วงแรก ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2559