หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำในพม่าได้ระงับการรายงานข่าวของตนเองเกี่ยวกับรัฐยะไข่ ตามการระบุของบันทึกภายในองค์กร ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นกับสื่อในการจำกัดการรายงานปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่
พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ใกล้กับชายแดนบังกลาเทศและเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ตกอยู่ภายใต้การปิดล้อมทางทหารเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน โดยที่เจ้าหน้าที่ช่วยจากนานาชาติถูกกีดกันไม่ให้เข้าพื้นที่
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดจนถึงเวลานี้สำหรับรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสมดุลของอำนาจระหว่างกองทัพและฝ่ายบริหารพลเรือน
เมียนมาร์ไทม์ส หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ได้ยุติการรายงานสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ หลังเจ้าหน้าที่อาวุโสของหนังสือพิมพ์ ฟิโอน่า แมคเกรเกอร์ ถูกไล่ออก อันเนื่องจากบทความที่ระบุว่ากองกำลังทหารข่มขืนหญิงชาวโรฮิงญา
ในบันทึกภายในองค์กรฉบับหนึ่งที่ AFP ระบุว่า คณะผู้บริหารมีคำสั่งถึงบรรณาธิการต่างๆ ไม่ให้วิเคราะห์ แสดงความเห็น รายงาน หรือมีข้อคิดเห็นจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม ในประเด็นที่ประกอบด้วย รัฐยะไข่ โรฮิงญา และการปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่
บันทึกดังกล่าวทำให้พนักงานโพสประกาศลงในหนังสือพิมพ์ฉบับวันอังคาร (8) ระบุว่า นโยบายการกลั่นกรองพิจารณาบทความของหนังสือพิมพ์อยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงโดยคณะผู้บริหาร
“จนถึงตอนนั้น คุณอาจสังเกตเห็นช่องว่างบางอย่างในรายงานข่าวของเรา” หนังสือพิมพ์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกห้ามเข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่ ท่ามกลางข้อครหาว่ากองกำลังทหารฆ่าพลเรือนชาวโรฮิงญา ข่มขืนผู้หญิง และเผาหมู่บ้าน
รัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น และหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐได้ออกมาโจมตีว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริง
สื่อถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมานานราวครึ่งศตวรรษ และแม้เสรีภาพจะเพิ่มสูงขึ้นภายใต้รัฐบาลซูจี แต่ผู้ตรวจสอบอ้างว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับยังคงเซนเซอร์ตัวเอง
บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทม์สรายหนึ่งได้ลาออกประท้วง และแหล่งข่าวภายในหนังสือพิมพ์ระบุว่า มีพนักงานอีกหลายคนกำลังตัดสินใจลาออกเช่นกัน
“หนังสือพิมพ์อดทนกับการเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์ในยุคเผด็จการทหาร และยังมีความกังวลเกี่ยวกับการก้าวถอยของเสรีภาพสื่อในช่วงหลายปีมานี้” พนักงานหนังสือพิมพ์รายหนึ่ง กล่าว
การปลดแมคเกรเกอร์ มีขึ้นหลัง นายซอ เต โฆษกประธานาธิบดีบ่นในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับบทความของแมคเกรเกอร์ แต่นายซอ เต อ้างว่าไม่มีส่วนในการไล่ออก และอ้างว่ารัฐบาลไม่มีเหตุผลที่จะปิดบัง