ชาวอินเดียบุกธนาคาร หลังรัฐบาลอินเดียเลิกใช้ธนบัตร 500 – 1,000 รูปีกระทันหัน

ฝูงชนชาวอินเดียที่กำลังตื่นตระหนก และไม่พอใจพากันมาต่อคิวกันยาวเหยียดอยู่ด้านนอกธนาคารหลายแห่งในเมืองมุมไบ ที่ถือเป็นเมืองหลวงทางการเงินของแดนภารตะ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (10 พฤศจิกายน) หลังจากเมื่อสองวันก่อนนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศให้ธนบัตร 500 กับ 1,000 รูปี ถูกถอดออกจากระบบ

ในการประกาศตั้งแต่เมื่อคืนวันอังคาร โมดีได้บอกประชาชนว่า ไม่ต้องรีบร้อนไปธนาคาร เพราะธนบัตรเหล่านั้นยังสามารถนำไปฝากเข้าบัญชีได้จนถึงสิ้นปี 2016 แต่การเลิกใช้ธนบัตรมูลค่าสูงที่มีผลตั้งแต่วันพุธ อันเป็นความพยายามที่จะต่อสู้กับการคอร์รัปชัน การค้าในตลาดมืด รวมถึงการเลี่ยงภาษี ก็ได้ทำให้คนจำนวนมากไม่มีเงินสดสำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน

ธนาคารหลายแห่งพากันปิดในวันพุธ แล้วเปิดอีกครั้งในเช้าวันพฤหัสบดี โดยมีการจำกัดเพดานการถอนเงิน แถมตู้เอทีเอ็มก็ยังปิด ทำให้ต้องเอาเงินจากธนาคารได้อย่างเดียว ซึ่งบรรดาหนังสือพิมพ์ในอินเดียพากันรายงานปรากฏการณ์คนต่อคิวยาวเหยียดตามธนาคารสาขาต่างๆ แล้วพากันแลกธนบัตรมูลค่าสูงของตนเองให้เป็นธนบัตร 100 รูปี

ที่ธนาคารแห่งอินเดีย สาขาย่านเชิร์คเกท ในมุมไบ มีผู้คนจำนวนมากต่อคิวกันกลางแดดตอนเที่ยงวัน พากันกรอกแบบฟอร์มฝากเงิน ขณะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตะโกนให้คำแนะนำ

มากันไบ โซลันกี ผู้ต่อคิวมานาน 4 ชั่วโมง ระบุว่า “ข่าวบอกธนาคารจะเปิดวันนี้ตอน 8 โมง ผมก็มาถึงตอน 8.01 น. แล้วดูตอนนี้สิ เที่ยงแล้วผมยังอยู่ตรงนี้อยู่เลย คนที่ต่อคิวอยู่ข้างหน้าผม มีประมาณ 50 คนที่ถอดใจเลิกรอไปแล้ว แต่ผมไม่มีทางเลือก เพราะที่บ้านไม่มีเงิน มีแต่แบงก์ 500 กับ 1,000 รูปี ซึ่งตอนนี้ไม่มีค่าอะไรแล้ว เราไม่มีเงินพอจะจ่ายให้คนส่งนมเมื่อเช้าด้วยซ้ำ”

กูรู บิรัจดาร์ นักกฎหมายรายหนึ่งบอกว่า “ผมจะซื้อชาสักถ้วยยังไม่ได้เลย วันนี้ผมไม่ได้ไปทำงาน เพราะไม่มีเงินติดตัวเลย เงินทั้งหมดที่มีมันเป็นแบงก์ 500 กับ 1,000 รูปี ผมก็เลยต้องตรงดิ่งมาที่ธนาคารเมื่อเช้านี้ ผมเคยมีแบงก์ 100 รูปี 2 ใบอยู่ในกระเป๋าตังค์เมื่อคืนวันอังคาร แต่ผมใช้ไปหมดแล้วเมื่อวานนี้”

ร้านค้า สถานีรถไฟ รวมถึงแท็กซี่ ไม่ยอมรับธนบัตร 500 กับ 1,000 รูปี ตั้งแต่วันพุธ ทำให้การค้าขายแลกเปลี่ยนสะดุดเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งโรงพยาบาล ซึ่งได้รับข้อยกเว้นจากเรื่องนี้ในช่วงระยะแรก ก็ยังมีรายงานว่า ไม่ยอมรับการชำระเงินด้วยธนบัตรมูลค่าสูงเหล่านี้

บางคนพากันบ่นว่า การประกาศแบบคาดไม่ถึงของโมดีได้ป่วนการใช้ชีวิตตามปกติอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีใครยอมรับเงิน – ทอนเงิน เรื่องแบบนี้ควรจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่จู่ๆ ก็ทำเลยแบบนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่อยู่ของประชากรประมาณ 2 ใน 3 ของอินเดียจากทั้งหมด 1.25 พันล้านคน ถือว่าการเข้าถึงธนาคารนั้นเป็นเรื่องยาก การประกาศของโมดีจึงสร้างความสับสนอลหม่านอย่างหนัก

เรชมา มูร์ธี หญิงที่ทำงานเป็นแม่บ้านในเมือง บอกว่า เธอต้องเอาเงิน 4,000 รูปี มาฝากธนาคารให้ครอบครัวในหมู่บ้านที่ห่างไกล เพราะได้รับการโทร.บอกว่าไม่มีเงินสดที่ใช้ได้เหลือเลย แผนนี้เป็นการตัดสินใจที่แย่มาก รัฐบาลควรจะให้เวลาพวกเรามากกว่านี้ นี่มันเกิดขึ้นเร็วไป

ความคิดเห็น

comments