ชาวโรฮิงญาราว 21,000 คน ได้หนีเข้าไปในบังกลาเทศ ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ เพื่อหนีภัยความรุนแรงในพม่า ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
แม้จะมีรายงานว่าบังกลาเทศจะเพิ่มการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อพยายามสกัดกั้นคลื่นผู้อพยพที่หนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารในรัฐยะไข่ นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่หัวหน้าสำนักงาน IOM ประจำเมืองคอกซ์บาซาร์ ที่มีพรมแดนติดกับรัฐยะไข่ ระบุว่า มีชาวโรฮิงญาราว 21,000 คน ข้ามเขตแดนเข้ามาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และผู้ที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามเพิงพักชั่วคราว ค่ายผู้ลี้ภัย และหมู่บ้านต่างๆ
“ชาวโรฮิงญาประมาณ 21,000 คน ได้เดินทางเข้ามาในเมืองคอกซ์บาซาร์ ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม ถึง 2 ธันวาคม” หัวหน้าสำนักงาน IOM ประจำเมืองคอกซ์บาซาร์ กล่าว และระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลที่รวบรวมโดยหน่วยงานของสหประชาชาติ และหน่วยงาน NGO ระหว่างประเทศ
ทางการบังกลาเทศได้เสริมกำลังตามด่านชายแดน และระดมเรือรักษาการณ์ชายฝั่งเข้าตรวจตราป้องกันไม่ให้ผู้อพยพลี้ภัยกลุ่มใหม่ไหลบ่าเข้ามา แต่ก็ปล่อยให้ชาวประมงพื้นบ้านได้คอยให้ความช่วยเหลือกับเรือผู้อพยพที่มาจากฝั่งพม่า
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศได้เข้าสกัดเรือหลายร้อยลำที่เต็มแน่นไปด้วยชาวโรฮิงญาไม่ให้เข้ามาในเขตแดนประเทศ ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศ ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกัดดันจากนานาชาติ และฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้เปิดชายแดนรับชาวโรฮิงญาที่หนีภัยเหล่านี้ แต่บังกลาเทศโต้แย้งว่าควรจะกดดันพม่าให้ดำเนินการทางทหารโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนมากกว่า
และในวันอังคาร (6) ตำรวจบังกลาเทศ ยังได้เข้าขัดขวางกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนนับหมื่นคนไม่ให้เดินขบวนไปยังสถานทูตพม่าในกรุงธากา เพื่อประท้วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในบังกลาเทศมากกว่า 230,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยมีชาวโรฮิงญาเพียงแค่ประมาณ 32,000 คน ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ
ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ปะทุขึ้นเมื่อเดือนก่อน หลังกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าระดมกำลังลงพื้นที่เพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ภายหลังจากเกิดเหตุโจมตีด่านชายแดนตำรวจที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 9 นาย โดยการปราบปรามที่รุนแรงของพม่าได้ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วระหว่าง 86-400 คน ตามข้อมูลจากทั้งทางการพม่า และกลุ่ม NGO ในท้องถิ่น