เตือนปี 60 “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดเพิ่ม 2 เท่า

กรมควบคุมโรคเตือนปี 60 ระวัง “โรคไข้หวัดใหญ่” จ่อระบาดตั้งแต่ต้นปี ระบาดเพิ่มขึ้น 2 เท่า คาด มีผู้ป่วยถึง 320,000 ราย เผย 7 จังหวัดเสี่ยงระบาดวงกว้าง ด้าน “ไข้เลือดออก – มือเท้าปาก” คาด ผู้ป่วยลดลง ห่วงผู้ป่วยจากภัยจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส – หมอกควัน ภาคเหนือช่วงต้นปี

เมื่อวันอังคาร (13 ธ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ พ.ศ. 2560” ว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวน และช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรคที่สำคัญในปี 2560 พบว่า ในกลุ่มโรคติดต่อที่สำคัญมี 4 โรค คือ
1. โรคไข้หวัดใหญ่ โดยปี 2559 พบผู้ป่วย 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย โดยคาดว่าในปี 2560 ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ ประมาณ 320,000 ราย จังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดเป็นวงกว้างมี 7 จังหวัดคือ ลำปาง กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา และ พะเยา ทั้งนี้ การเดินทางของผู้คน ความเจริญรุ่งเรือง และบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการระบาดมากขึ้น ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงคือ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการรับบริการฉีดวัคซีนฟรี
2. โรคไข้เลือดออก โดยปี 2559 พบผู้ป่วย 57,425 ราย เสียชีวิต 55 ราย สถานการณ์ดีกว่าปี 2558 โดยคาดว่าปี 2560 จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกจะลดลงอีก เหลือประมาณ 37,500 ราย หากยังคงมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ ซึ่งป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และ ซิกา
3. โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและพบการระบาดแบบปีเว้นปี โดยปี 2559 พบผู้ป่วย 75,796 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งพบมากกว่าปี 2558 ดังนั้น คาดว่า ปี 2560 ผู้ป่วยจะลดลงเหลือประมาณ 42,000 ราย
และ 4. โรคเมลิออยโดสิส โดยปี 2559 พบผู้ป่วย 3,171 ราย เสียชีวิต 6 ราย พบมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี คาดว่า ปี 2560 ผู้ป่วยน่าจะใกล้เคียงกันคือประมาณ 3,000 ราย

“สำหรับโรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพที่น่ากังวลมี 2 เรื่อง คือ 1. ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยตั้งแต่ปี 2551 – 2559 พบผู้ป่วยหมดสติขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส 16 เหตุการณ์ ผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ทุกเหตุการณ์เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มี มอก. ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือระหว่าง ธ.ค.- ม.ค. ของทุกปี จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังโดยเฉพาะการไปท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว ม.ค.-ก.พ. 2560 และ 2. โรคทางเดินหายใจจากปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน จากอุณหภูมิที่ต่ำลแะมีหมอกควันหนาขึ้น แนวโน้มจะสูงช่วง ธ.ค.- ม.ค. ซึ่งข้อมูลปี 2557 – 2559 พบผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 8,000 – 8,500 ราย ผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงและเสียชีวิตได้” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่พบการระบาดตามฤดูกาล 2 ช่วง คือ ฤดูฝนจนถึงปลายฝนต้นหนาว ช่วง ส.ค.- พ.ย. และช่วงฤดูหนาวต้นปี ม.ค.- มี.ค. มีผู้ป่วย 25,000 – 32,000 รายต่อเดือน ดังนั้น ช่วงปลายปีเมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมาก ต้นปีหน้าจึงยังคงมีผู้ป่วยสูง ส่วนไข้เลือดออกนั้น หากคงมาตรการกำจัดยุงลาย และแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ปี 2560 จะไม่มีการระบาดมาก สำหรับการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรมีเครื่องดูดอากาศออกไปภายนอกที่พัก หากไม่พบเครื่องดังกล่าวแนะนำว่าไม่ควรอาบน้ำ หรือรีบอาบให้เร็วที่สุด เพราะพบว่าเมื่อเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สใน 10 นาที ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดอาการหายใจ หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ ที่สำคัญ ไม่ควรเปิดประตูห้องน้ำเพื่อระบายอากาศ เพราะส่งผลกระทบต่อคนในห้องพักด้วย ส่วนปัญหาหมอกควันในภาคเหนือค่า pm10 ที่เพิ่มขึ้นทุก 2.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สัมพันธ์กับผู้เสียชีวิตจากโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น 1 คน และอุณหภภูมิที่ลดลงทุก 1.6 องศาเซลเซียส สัมพันธ์กับจำนวนผู้เสียชีวิตกลุ่มโรคดังกล่าว 1 คนเช่นกัน

ความคิดเห็น

comments