กระทรวงกิจการศาสนาของพม่า วางแผนจะเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ใหม่ที่จะระบุว่าชาวโรฮิงญาไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปราบปรามทางทหารต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
เมื่อวันจันทร์ (12) กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรมของประเทศ ได้ประกาศแผนที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ที่จะลบล้างชาวต่างชาติที่ยุแยงด้วยการยืนกรานว่า พม่ามีชาวโรฮิงญาอยู่แต่เดิม และต่อผู้ที่มุ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองของพม่ามัวหมอง
“เราขอประกาศว่าเรากำลังจะตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่าที่แท้จริง ความจริงนั้นคือคำว่า “โรฮิงญา” ไม่เคยถูกใช้หรือมีอยู่ในฐานะของชาติพันธุ์ หรือเชื้อชาติในประวัติศาสต์พม่า” กระทรวงระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันจันทร์
อดีตรัฐบาลทหารพม่ากล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาในประเทศเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายมาจากบังกลาเทศ และกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ด้วยคำว่า “เบงกาลี” แม้ว่าหลายคนจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม แม้แต่การใช้คำว่า “โรฮิงญา” ก็อาจก่อให้เกิดความแตกแยกได้ ทำให้ซูจี ต้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐหลีกเลี่ยงการใช้คำดังกล่าว
ตามการระบุของกระทรวงกิจการศาสนา คำจำกัดความนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 2491 โดยสมาชิกสภาชาวเบงกาลี
โรฮิงญา ถูกถอดออกจากการเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับของประเทศ โดยอดีตรัฐบาลทหารภายใต้กฎหมายปี 2525 ที่กำหนดว่า ชนกลุ่มน้อยต้องอาศัยอยู่ในพม่าก่อนสงครามอังกฤษ-พม่า ปี 2367-2369
แต่ชาวโรฮิงญา และนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมปฏิเสธความคิดที่ว่าพวกเขาเป็นทาสที่ชาวอังกฤษนำเข้ามา โดยโต้แย้งว่า รากเหง้าของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ สามารถสืบย้อนหลังไปได้หลายร้อยปี
สหประชาชาติระบุเมื่อวันอังคาร (13) ว่า มีชาวโรฮิงญาหลบหนีการปราบปรามทางทหารในรัฐยะไข่ ข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศแล้วเกือบ 27,000 คน นับตั้งแต่ต้นเดือน พฤศจิกายน จากตัวเลขการประเมินผู้ได้รับผลกระทบของสหประชาชาติที่ 30,000 คน และเรื่องราวของชาวโรฮิงญาเกี่ยวกับการข่มขืน และสังหารโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง สร้างความตกตะลึงต่อประชาคมโลก และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลของนางอองซานซูจี
พม่าปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ และเรียกร้องการจัดประชุมอาเซียนฉุกเฉินในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤต ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ชาติอาเซียนจะมีการประชุมเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศสมาชิกโดยการร้องขอของชาติที่ประสบเหตุ