“ซูจี” ส่งผู้แทนพิเศษเยือนบังกลาเทศท่ามกลางวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

ผู้แทนพิเศษของนางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า จะเริ่มการหารือในระดับสูงที่บังกลาเทศ วันพุธ (11) ขณะที่สหประชาชาติ กล่าวว่า การใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาของพม่าส่งผลให้มีชาวโรฮิงญากว่า 65,000 คน หลบหนีออกจากพม่าข้ามแดนไปยังบังกลาเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

จอ ทิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศพม่า จะเยือนกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศเป็นเวลา 3 วัน ในความพยายามทางการทูต ในภาวะตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

คลื่นผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ และรายงานที่ระบุว่า กองทัพเรือพม่ายิงเข้าใส่ชาวประมงบังกลาเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน

การเยือนครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงจากท่าทีที่ทางการเมืองของพม่า ไปสู่การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ ที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขวิกฤตที่กำลังขยายตัวนี้

ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาระลอกล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากทหารพม่าอ้างเหตุโจมตีด่านชายแดนพม่าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ทำให้ตำรวจพม่า 9 นายเสียชีวิต โดยทหารพม่าได้ประกาศให้พื้นที่ของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เป็นพื้นที่ปฎิบัตการทางทหาร ห้ามผู้อื่นเข้าออกพื้นที่ แล้วเริ่มต้นการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในทันที

ประชาชน และผู้ลี้ภัยยืนยันตรงกันว่า ทหารพม่าได้ก่อการสังหาร การจับกุมตัวโดยพลการ และการข่มขืน ระหว่างการปฏิบัติการของทหาร ซึ่งรัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหาของการละเมิดเหล่านั้น และตั้งอดีตนายทหารเป็นหัวหน้าคณะกรรมการสอบสวนลงพื้นที่ซึ่งผลสอบเบื้องต้นระบุว่าไม่พบความผิดของเจ้าหน้าที่ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว

แต่ทว่าคลิปวิดิโอของเจ้าหน้าที่ทางการพม่ากลุ่มหนึ่งที่ถูกถ่ายไว้อย่างสนุกสนานของกลุ่มเจ้าหน้าที่ในเดือนพฤศจิกายนกลับเผยให้เห็นภาพชาวโรฮิงญาที่ถูกสั่งให้นั่งอยู่ที่พื้นที่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่ และถูกเจ้าหน้าที่ตีด้วยอาวุธ รวมไปถึงการเตะที่ใบหน้าของชาวโรฮิงญาเหล่านั้นด้วย

ระหว่างการเยือนครั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะหารือถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี และยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าฝ่ายพม่าจะยกประเด็นซับซ้อนเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดนขึ้นหารือหรือไม่ ตามการระบุของ เอ เอ โซ รองผู้อำนวยการของกระทรวงการต่างประเทศ

“สำหรับสถานการณ์ชายแดนนั้น การปฏิบัติการทางทหารยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคง ทำให้ไม่คิดว่าจะมีผลสรุปมากนักจากการพบหารือครั้งแรกนี้” เอ เอ โซ กล่าว

จอ ทิน พบกับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ในวันพุธ (11) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ

โดยแหล่งข่าวระบุว่า การเดินทางเยือนของพม่าจะช่วยให้บังกลาเทศไม่เพิ่มแรงกดดันต่อพม่าในประเด็นโรฮิงญาในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การประชุมขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่กำลังจะมีขึ้น

แต่การหารือระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านมีความซับซ้อนด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวโรฮิงญามากถึง 500,000 คน ที่หลบหนีเข้าไปยังบังกลาเทศตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีของการกดขี่ในพม่า ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นการหารือนี้

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า จนถึงวันที่ 5 มกราคม มีประชาชนมากกว่า 65,000 คน เดินทางเข้ามายังบังกลาเทศ ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

แต่ เอ เอ โซ ได้ตั้งคำถามต่อตัวเลขที่สหประชาชาติระบุไว้ โดยกล่าวว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้ลี้ภัยจากพม่าจะถูกพิจารณาอย่างละเอียด และจากการเจรจาส่งตัวกลับประเทศ พบว่า มีพลเมืองพม่าในบังกลาเทศพม่ายอมรับว่ามีพลเรือนเพียง 2,415 คน เท่านั้นที่หลบหนีข้ามพรมแดนเจ้าไปในบังกลาเทศ

“เราจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่ามีประชาชนเดินทางมาถึงจำนวนเท่าใด และมาจากที่ใด แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้” เอ เอ โซ กล่าวอ้าง

ความคิดเห็น

comments