มาเลย์ปล่อยเรือขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยโรฮิงญา (VDO)

เรือบรรเทาทุกข์นานาชาติที่นำโดยมาเลเซียในการบรรทุกอาหาร เสื้อผ้า และเวชภัณฑ์ ถูกปล่อยออกจากท่าเรือมุ่งหน้าไปยังพม่าในวันศุกร์ (3 กุมภาพันธ์) โดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ที่ร่วมในพิธีปล่อยเรือ พร้อมระบุความช่วยเหลือเหล่านี้จะนำไปใช้บรรเทาความทุกข์ทรมานของชาวมุสลิมโรฮิงญา

การปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงที่ดำเนินมานาน 4 เดือน ต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า สร้างความวิตกให้กับโลกมุสลิม ขณะที่ผู้นำมาเลเซียได้กล่าวโทษผู้นำพม่าก่อนหน้านี้ว่าปล่อยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับชาวโรฮิงญา

“นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ความพยายามที่แสดงให้เห็นว่าทุกความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานของชาวโรฮิงญาในพม่าไม่ได้ถูกละเลย” นาจิบ กล่าวสุนทรพจน์ที่ท่าเรือแกลง ทางตะวันตกของกรุงกัวลาลัมเปอร์

“เราได้ยินความทุกข์ร้อนและความเจ็บปวดของพวกเขา เหล่าบรรดาผู้ที่ถูกข่มขืน สังหาร และเผาทั้งเป็น” นาจิบ กล่าว

ผู้คนราว 700 ชีวิตรวมตัวเป็นสักขีพยานการปล่อยเรือ Nautival Aliya ที่บรรทุกอาหาร ประมาณ 2,200 ตัน สิ่งของช่วยเหลือทางการแพทย์ เสื้อผ้า และสิ่งจำเป็นอื่นๆ รวมทั้ง นักเคลื่อนไหวและบุคคลากรทางการแพทย์ 238 คน

เรือลำนี้คาดว่าจะเดินทางถึงนครย่างกุ้งในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และจะขนถ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์รวม 500 ตัน ที่นครย่างกุ้ง โดยหนึ่งในผู้ประสานงานเรือระบุว่าทางการพม่าได้ตกลงที่จะรับสิ่งของช่วยเหลือบางส่วนไว้และนำไปแจกจ่ายให้กับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ และเรือจะเดินทางมุ่งหน้าต่อไปยังท่าเรือเทคนาฟ ในบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียได้ระบุในคำแถลงซึ่งออกมาในภายหลังว่า บังกลาเทศได้ตัดสินใจที่จะไม่อนุญาตให้เรือเทียบท่าที่เมืองเทคนาฟ ซึ่งใกล้กับที่ที่ผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่พักค้างแรมอยู่ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้ร้องขอต่อคณะข้าหลวงใหญ่บังกลาเทศประจำมาเลเซียให้เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจดังกล่าว

การจัดส่งความช่วยเหลือครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยกลุ่ม NGO มาเลเซีย รวมทั้งกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในประเทศ และต่างประเทศ

พม่าไม่อนุญาตให้เรือแล่นไปที่เมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ตามที่ผู้จัดการความช่วยเหลือคาดหวังไว้ แต่พม่ายืนยันว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะถูกแจกจ่ายอย่างเท่าเทียมให้กับทั้งชุมชนชาวพุทธและมุสลิม

“เรายังคงหวังด้วยใจของเราทั้งหมดว่า พวกเขาจะอนุญาตให้เราไปที่เมืองสิตตเว และแจกจ่ายความช่วยเหลือเหล่านี้ด้วยตัวเอง” หัวหน้าภารกิจ กล่าว

การปราบปรามนองเลือดต่อชาวโรฮิงญา ที่สหประชาชาติระบุว่า มีแนวโน้มที่จะสังหารประชาชนไปหลายร้อยคน ได้สร้างความด่างพร้อยต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลนางอองซานซูจี ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่กองทัพพม่าดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ เพื่อถอนรากถอนโคนผู้ก่อเหตุไม่สงบที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุโจมตีด่านชายแดนตำรวจ มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 69,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศ พร้อมระบุว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าก่อเหตุข่มขืน สังหาร และทรมานชาวโรฮิงญา ซึ่งทางการพม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น

ความคิดเห็น

comments