วิศวกรโยธาหญิงจากฉนวนกาซา ประดิษฐ์คิดค้นอิฐมวลจากเศษเถ้าถ่าน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าอิฐทั่วไปตามท้องตลาดราวร้อยละ 30 ทนไฟ ทนความร้อน และเก็บกักเสียงได้เป็นอย่างดี
เศษซากกองขี้เถ้าหลายร้อยตันที่เหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงานเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม ซึ่งกระจายตัวอยู่รอบพื้นที่ฉนวนกาซา และภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นเหตุจูงใจสำคัญที่ผลักดันให้มัจด์ มาชฮาราวี วิศวกรโยธาหญิง วัย 23 ปี ในกาซาซิตี และผู้ก่อตั้ง “กรีนเค้ก” บริษัทด้านการก่อสร้าง และราวัน อับดุล ลาตีฟ หุ้นส่วนธุรกิจ หาทางคิดค้นพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ขยะขี้เถ้าซึ่งถูกทิ้งตามหลุมฝังกลบอย่างสร้างสรรค์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จนได้ผลลัพธ์เป็นนวัตกรรมสีเขียวที่ชื่อ อิฐอีโค บริกส์
มาชฮาราวีอธิบายว่า ผลงานชิ้นนี้มีส่วนอนุรักษ์โลกและธรรมชาติ เพราะผลิตจากเศษขี้เถ้ากับปูนซีเมนต์อีกเล็กน้อย โดยไม่ต้องผสมกับทรายและก้อนกรวดอีก จึงช่วยลดปริมาณขยะขี้เถ้าและประหยัดต้นทุนและทรัพยากร ยิ่งไปกว่านั้น อิฐที่ได้ยังมีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าอิฐทั่วไปตามท้องตลาดราวร้อยละ 30 แถมยังทนไฟ ทนความร้อน และเก็บกักเสียงได้เป็นอย่างดี
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น ทำให้ผลงานของมาชฮาราวีกับลาทีฟสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมในงานเจแปน-กาซ่า อินโนเวชั่น แชลเลนจ์ ที่ญี่ปุ่น เมื่อปีที่แล้ว
ยูเซฟ เอล ฮัลแลค เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของมหาวิทยาลัยอิสลามในกาซา หวังว่านวัตกรรมนี้จะได้รับการตอบรับจากอุตสาหกรรมก่อสร้างในกาซาที่กำลังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ เช่น การจำกัดปริมาณนำเข้าซีเมนต์อย่างเข้มงวดจากอิสราเอล ทำให้อิฐมีราคาแพง ขณะที่เจ้าของผลงานอย่างมาชฮาราวีคาดหวังว่าผลงานของเธอจะสามารถเป็นต้นแบบแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีขี้เถ้าเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ขณะนี้อิฐสีเขียวอยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียนกับทางกระทรวงเศรษฐกิจกาซา ควบคู่ไปกับการเดินหน้าทดสอบคุณภาพ เพื่อเตรียมผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย