รพ. รัฐในอังกฤษ เตรียมเก็บค่าใช้จ่ายก่อนรักษาผู้ป่วยต่างชาติ เม.ย.นี้

ตั้งแต่เมษายนนี้ โรงพยาบาลของรัฐในอังกฤษ สังกัดสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นเอชเอส (NHS) มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ก่อนให้การรักษาผู้ป่วยต่างชาติกรณีไม่ฉุกเฉินและไม่มีสิทธิรักษาฟรี หลังพบหนี้สูญมหาศาล

BBC Thai รายงานว่าหน่วยงานปรับปรุงสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS Improvement) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยต่างชาติถูกปฏิเสธการผ่าตัด หากไม่จ่ายเงินล่วงหน้า แต่ก็จะช่วยให้โรงพยาบาลไม่ต้องตามทวงค่ารักษาภายหลัง อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน จะยังได้รับการรักษาก่อน และส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บเช่นเดิม

นายเจเรอมี่ ฮั้นท์ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ ท่ามกลางรายงานจำนวนผู้ป่วยต่างชาติ ที่ใช้บริการของเอ็นเอชเอส มากขึ้น เช่น ในสารคดีเรื่อง ฮอสพิทัล (Hospital) ของบีบีซี ก็ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ผู้ป่วยต่างชาติไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ และต้องกลายเป็นหนี้เอ็นเอชเอส

ตามระเบียบปัจจุบัน โรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรมีหน้าที่จะต้องเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขตเศรษฐกิจยุโรป สำหรับการรักษาที่ไม่เร่งด่วน เช่น การผ่าตัดสะโพก หรือต้อกระจกอยู่แล้ว แต่เป็นการเรียกเก็บภายหลังได้ ซึ่งต่างจากการเรียกเก็บล่วงหน้าตามกฎใหม่ ส่วนรายละเอียดการรักษาของผู้ป่วยจากประเทศภายในเขตเศรษฐกิจยุโรป ก็จะถูกส่งไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาหลายคนที่อยู่ในคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบภาครัฐ ระบุว่า ระบบการเรียกเก็บค่ารักษาย้อนหลังจากผู้ป่วยต่างชาติที่ผ่านมา “ยุ่งเหยิง” โดยนาย ฮั้นท์ กล่าวว่า “เราไม่ได้มีปัญหาอะไร กับการที่ชาวต่างชาติจะเข้ามารักษากับ เอ็นเอชเอส ตราบใดที่เขาจ่ายเงินอย่างเป็นธรรม แบบเดียวกับผู้ที่เสียภาษีในสหราชอาณาจักร” นอกจากนี้ เขายังชี้แจงว่า เป้าหมายของการออกกฎใหม่นี้ ก็เพื่อเรียกเก็บเงินให้ได้ 500 ล้านปอนด์ (2.2 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2018 นี้ เพื่อนำกลับไปลงทุนกับเอ็นเอชเอสต่อไป ในขณะที่ รายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ระบุว่า รายได้ของเอ็นเอชเอสในปีหน้าจะต่ำกว่าเป้า

หนี้ค้างจ่ายก้อนโต

สารคดีฮอสพิทัลที่จัดทำโดยบีบีซี เล่าถึงกรณีของพริซิลล่า คุณแม่ชาวไนจีเรีย ว่าเธอเกิดป่วยหนักขณะนั่งเครื่องบินกลับบ้านจากสหรัฐอเมริกา จึงต้องคลอดฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ เอ แอนด์ อี ทางตะวันตกของลอนดอน หลังจากที่เครื่องบินมาแวะจอดที่สนามบินฮีโธรว์ โดยเธอคลอดลูกแฝด 4 ทำให้ปัจจุบันมีหนี้ค้างจ่ายเอ็นเอชเอสถึง 330,000 ปอนด์ (14.6 ล้านบาท) ซึ่งเธอเองก็ไม่มีปัญญาจ่าย และบิลค่ารักษาพยาบาลนี้ คาดว่าเป็นหนึ่งในหนี้ค้างจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดที่เกิดจากผู้ป่วยชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎใหม่สำหรับการเรียกเก็บค่ารักษาล่วงหน้า กรณีอย่าง พริซิลล่า ก็ยังจะได้รับการรักษาอยู่ เนื่องจากชีวิตของเธอและลูกๆ ซึ่งสุดท้ายรอดเพียงแค่ 2 คน กำลังอยู่ในอันตราย

สถิติระบุว่าเมื่อปี พ.ศ.2559 เอ็นเอชเอส ทรัสต์ ซึ่งมีโรงพยาบาลเซนต์ แมรี่ รวมอยู่ด้วย ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็นเงิน 4 ล้านปอนด์ (177 ล้านบาท) แต่เรียกเก็บย้อนหลังได้เพียง 1.6 ล้านปอนด์ (70.7 ล้านบาท)

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จะยังคงให้การรักษาผู้ป่วยต่างชาติในกรณีฉุกเฉินอยู่ เพียงแต่ผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนรักษาเลยว่าจะมีค่าบริการและเอ็นเอชเอสจะส่งบิลไปเรียกเก็บ ทั้งนี้ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลด้วยว่า จะตรวจสอบสิทธิการรักษาอย่างไร โดยคาดกันว่าผู้ป่วยต่างชาติอาจจะต้องแสดงเอกสารประจำตัวซึ่งหนึ่งในนั้นจะต้องระบุที่อยู่ในสหราชอาณาจักรด้วย

ด้านนายแพทย์ เมริออน โธมัส อดีตศัลยแพทย์มะเร็งของโรงพยาบาลรอยัล มาร์สเดน กล่าวกับรายการทูเดย์ ของเรดิโอ โฟร์ ว่าแผนนี้ไม่มีความชัดเจน “ไม่น่าจะได้ผล เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ถูกฝึกมาให้ระบุ และเรียกเก็บเงินล่วงหน้ากับผู้ป่วยต่างชาติ” โดยเขายกตัวอย่างตัวเลขว่า มีผู้จัดการผู้ป่วยต่างชาติซึ่งทำหน้าที่ระบุว่าผู้ป่วยต่างชาติรายไหนบ้างที่ไม่มีสิทธิการรักษาฟรีกับ เอ็นเอชเอส อยู่คนเดียวสำหรับ 3 โรงพยาบาล และยิ่งไปกว่านั้น เขากล่าวว่า “ใครก็ตามที่ขอวีซ่าท่องเที่ยวเข้าประเทศในกลุ่มเชงเก้น จะต้องซื้อประกันสุขภาพและการเดินทาง ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 30,000 ยูโร (1.14 ล้านบาท) ซึ่งนี่เป็นทางแก้ปัญหาสำหรับประเทศนี้ด้วย”

ความคิดเห็น

comments