ชาวบ้าน 3 อำเภอ ใน จ.สตูล ออกโรงค้านระเบิดเขา 2 ลูก ทำเหมืองแร่หิน ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดยัน 8 แหล่งหินอุตสาหกรรมประกาศใช้จริงขึ้นอยู่กับกระทรวงฯ จะเสนอเปลี่ยนหรือไม่ หลังประกาศให้สตูลเป็นแหล่งอุทยานแห่งชาติ และรอลุ้นอุทยานธรณีโลก
วันเสาร์ (18 กุมภาพันธ์) MGR Online รายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านรอบเขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน อ.ควนโดน และ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล รีบออกมารวมตัวเพื่อแสดงสัญลักษณ์ โดยไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่หินบนเขาโต๊ะกรัง ที่อยู่คู่ชุมชนมาช้านาน อีกทั้งเชื่อว่าการเข้ามาของนายทุนครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมชุมชนมากกว่าจะได้รับประโยชน์ หลังชุดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ประกอบด้วย ภาคประชาชน ผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอีกหลายฝ่าย โดยทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำคณะลงพื้นที่ หลังเกิดการร้องเรียนกรณีคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่หิน
นายสุรศักดิ์ กนกเนตรจมร ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สนง.ทสจ.สตูล กล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมการชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังเกิดการร้องเรียนกรณีคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่หิน พร้อมด้วยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ในพื้นที่ 2 จุด คือ การขอประทานบัตร “เขาบังใบ” ซึ่งอยู่รอยต่อเขต ต.ฉลุง และ ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล และ “เขาโต๊ะกรัง” เขตพื้นที่รอยต่อ ต.ควนโดน อ.ควนโดน และ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในเขต (แหล่งประกาศหินเหมืองแร่) 1 ใน 8 แหล่งหินเหมืองแร่สตูล หลังมีชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการขอประทานบัตรเขาทั้ง 2 แห่งนี้ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ ก่อนรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้รับทราบข้อเท็จจริง
นายอับดลมายีด ดาหมาด ประธานคณะทำงานบ้านนาปริก ม.9 ต.ควนโดน อ.ควนโดน ตัวแทนชาวบ้านคัดค้านการระเบิดหิน “เขาโต๊ะกรัง” กล่าวว่า มาวันนี้ชาวบ้านจะทำทุกวิถีทางในการเดินเรื่องเพื่อคัดค้านการระเบิดเขาลูกนี้ ที่เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อคนในชุมชน 2 อำเภอ คือ อ.ควนกาหลง และ อ.ควนโดน นอกจากจะเป็นแหล่งซับน้ำตามธรรมชาติ พันธุ์ไม้ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ต้องถูกทำลายไป ถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ติดกับเขาจะคงอยู่ ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจโดยประเมินค่าไม่ได้ และเชื่อว่าการทำประชาพิจารณ์ในครั้งที่ผ่านมา มีการหมกเม็ดไม่โปร่งใส หากวันนี้จะให้มีการยกเลิก และทำประชาพิจารณ์ใหม่นั้นก็ต้องขอหารือกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน
นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนภาคประชาชน หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ กล่าวว่า สำหรับ “เขาบังใบ” กับ “เขาโต๊ะกรัง” ในส่วนของเขาโต๊ะกรัง มีความยากกว่าเพราะได้ประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมแล้ว ส่วนเขาบังใบ ยังไม่ได้ประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ซึ่งการจะขอประทานบัตรนั้นต้องให้มีการประกาศเป็นแหล่งหินฯ ก่อนถึงจะขอได้ สำหรับเวทีการประชุมได้สรุปให้มีการยกเลิกการทำประชาพิจารณ์แล้วให้มีการทำใหม่ ให้ชาวบ้าน 2 ตำบลจับมือกันทำประชาพิจารณ์ร่วมกัน คิดว่าอาจจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่
ในส่วนของเขาโต๊ะกรัง ได้ถูกประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมไปแล้วในนามเขาลูกช้าง ซึ่งในส่วนพิกัดของตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ในส่วนของรายละเอียดต้องมาดูอีกว่า การขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่นั้นข้อมูลที่ทำครบถ้วนหรือไม่ ตามรายละเอียดที่เสนอไปว่า ภูเขาลูกนี้ไม่มีอะไร ต้องมาดูว่าจริงๆ แล้วมีหรือไม่ เพราะเขานี้พบว่ามีถ้ำภายในมีหินงอกหินย้อยอยู่ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้เขา ซึ่งต้องใส่ข้อมูลพวกนี้ ทราบว่าไม่มีการใส่ข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียด มองว่าอาจจะเป็นปัญหาหนึ่งที่จะต้องทบทวนกระบวนการที่ผ่านมาของภูเขาลูกนี้ด้วย
นายสมบูรณ์ คำแหง กล่าวด้วยว่า จ.สตูล มีการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับชาติ ก็ไม่ได้ปฏิเสธการหาแหล่งหินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ แต่ว่าในส่วนการยอมรับในกระบวนการที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่หมกเม็ดส่วนนี้สำคัญ เพราะชาวบ้านรับรู้ข่าวสารกันเร็วมาก ไม่สามารถทำอะไรแบบเมื่อก่อนได้ ซึ่งอาจต้องปรับตัวกันหน่อย
หลังจากชาวบ้านทั้ง 2 ลูกเขา ทั้งเขาโต๊ะกรัง และเขาบังใบ เกี่ยวเนื่องต่อชาวบ้านหลายตำบล พื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ควนกาหลง และ อ.ควนโดน ของ จ.สตูล ขณะนี้นั้นที่จะมีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หิน มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด หลายหน่วยงานทยอยลงเก็บข้อเท็จจริง ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ได้แจงข้อมูลใหม่แก่ชาวบ้านว่า แม้กระทรวงทรัพยากรธรณี จะประกาศให้ จ.สตูล เป็นอุทยานธรณีระดับชาติ และรอลุ้นผ่านเป็นอุทยานธรณีโลกนั้น จะสอดรับต่อการประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมที่ประกาศไว้เมื่อปี 2539 และ 2540 หรือไม่ ในเรื่องนี้ทางกรมฯ จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะยกเลิกประกาศดังกล่าวหรือไม่ โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดที่เคยมีการแต่งตั้งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับเบื้องบนเท่านั้น
ส่วนข้อสรุปเบื้องต้นของพื้นที่ที่จะขอประทานบัตรเขาบังใบ แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งหิน แต่ชาวบ้านก็มีข้อกังวล ซึ่งจะให้มีการทำประชาพิจารณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง และให้ครั้งเก่าเป็นโมฆะ เหมือนอย่างที่เขาโต๊ะกรัง ด้วยเช่นกัน ท่ามกลางข้อกังขาของชาวบ้านว่าข้อร้องเรียนจะเป็นผลหรือไม่ หลังทราบว่า มีการประกาศเมื่อปี พ.ศ.2539 ต่อเนื่อง 2540 ตามประกาศอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมสตูลมีด้วยกัน 8 ลูก คือ 1.ภูเขาพลู ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 2.ภูเขาจำปา ภูเขาโต๊ะช่าง และภูเขาเณร หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 3.ภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า 4.เขาลูกช้าง โดยเขาโต๊ะกรัง เป็นลูกเขาในกลุ่มนี้ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 5.เขาวังบุมาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 6.เขาละใบดำ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 7.เขาจุหนุงนุ้ย ต.กำแพง อ.ละงู และ 8.เขาละมุ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง