ผู้ลี้ภัยและค่ายพักพิงในเยอรมนีถูกโจมตีมากกว่า 3,500 ครั้งในปีที่แล้ว หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยเกือบ 10 ครั้งต่อวันที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้อพยพ สถิติล่าสุดจากกระทรวงมหาดไทยเยอรมัน
กระทรวงมหาดไทยเยอรมนีได้ยื่นจดหมายตอบข้อซักถามของรัฐสภา โดยระบุว่าเหตุรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เยอรมนีเผชิญการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพทำให้มีผู้บาดเจ็บ 560 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 43 คน
รัฐบาลยังได้ประณามเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น “ด้วยถ้อยคำรุนแรง”
“ผู้คนที่ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามาแสวงหาการปกป้องจากเยอรมนี ย่อมมีสิทธิ์ที่จะพักอาศัยอยู่อย่างปลอดภัย” สำเนาจดหมายซึ่งผู้สื่อข่าวเอเอฟพีได้รับเมื่อวานนี้ (26) ระบุ
กระทรวงได้อ้างสถิติจากตำรวจซึ่งระบุว่า ในปี 2016 มีผู้ลี้ภัยรายบุคคลตกเป็นเหยื่อการทำร้ายร่างกายรวมทั้งสิ้น 2,545 กรณี และยังมีสถานที่พักพิงของผู้ลี้ภัยหรือผู้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยถูกโจมตีอีก 988 กรณี
อย่างไรก็ตาม สถิติการโจมตีสถานที่พักพิงผู้ลี้ภัยถือว่าลดลงเล็กน้อยจากปี 2015 ที่เกิดมากกว่า 1,000 กรณี ส่วนในปี 2014 เกิดเหตุโจมตีลักษณะนี้เพียง 199 กรณี
นอกจากสถิติของตำรวจแล้ว กระทรวงมหาดไทยเยอรมนีระบุว่ายังมีการโจมตีองค์กรหรืออาสาสมัครที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นอีก 217 กรณี
อาชญากรรมความเกลียดชังในเยอรมนีได้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มเพอกิดาเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ในการเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัย 890,000 คนเข้าประเทศในปี 2015
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้สังคมเยอรมนีแตกแยกเป็นฝักฝ่าย และตามมาด้วยการตั้งพรรคการเมืองพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) เพื่อเป็นการต่อยอดการเคลื่อนไหวต่อต้านชาวมุสลิมในระดับนโยบาย
อุลลา เยลป์เก ส.ส.พรรคซ้ายจัด Die Linke กล่าวโทษพวกหัวรุนแรงขวาจัดว่าเป็นต้นเหตุความรุนแรงต่อผู้อพยพ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันที่เด็ดขาดกว่านี้
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้ต้องหาซึ่งนิยมลัทธินีโอนาซีคนหนึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 8 ปีข้อหาวางเพลิงเผาสนามกีฬาในร่มซึ่งรัฐบาลจะใช้เป็นที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัย โดยสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 3.5 ล้านยูโร
เดือน กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว สังคมเยอรมนีต้องตกตะลึงเมื่อเห็นภาพการวางเพลิงเผาค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองเบาต์เซน (Bautzan) ทางตะวันออกของประเทศ โดยมีชาวบ้านหลายสิบคนยืนปรบมือเชียร์