จับยัดคอนเทนเนอร์ สภาฮังการีอนุมัติกฎหมายสกัดผู้อพยพ

ไม่สนสิทธิมนุษยชนกับมาตรการรุนแรงต้อนรับผู้อพยพของผู้นำฮังการี หลังรัฐสภาฮังการีได้อนุมัติกฎหมายอนุญาตให้สามารถกักตัวผู้ขอลี้ภัยทุกคนไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 สัปดาห์ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ออร์แบน ประกาศว่า จะสามารถทำให้ยุโรปปลอดภัย พร้อมทั้งเรียกบรรดาผู้อพยพเหล่านี้ว่า เป็นม้าไม้เมืองทรอยให้กลุ่มก่อการร้าย

หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ส รายงานเมื่อวันพุธ(8 มีนาคม)ว่า ในวันอังคาร(7)รัฐสภาฮังการีได้ลงมติอนุมัติให้รัฐบาลฮังการีสามารถกักขังผู้อพยพที่ขอสถานภาพลี้ภัย รวมไปถึง เด็ก และผู้หญิง ภายในบริเวณค่ายผู้อพยพ ที่จะถูกตั้งตลอดแนวพรมแดนฮังการี โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นสถานที่กักขัง

ทั้งนี้ในสายตาของประธานาธิบดีฮังการี วิกเตอร์ ออร์แบน จากสุนทรพจน์ล่าสุด ที่เขาได้ประกาศในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ควบคุมพรมแดนฮังการีจำนวน 462 นาย สังกัด “นักล่าแนวพรมแดน” หรือ border hunters ชี้ว่าอพยพเหล่านี้คือม้าไม้โทรจันเมืองทรอยของกลุ่มก่อการร้าย และทำให้ประเทศฮังการีของเขาตกที่นั่งลำบาก กลุ่มผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม นั้นเป็นภัยต่อแผ่นดินยุโรปทั้งด้านเอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียน และวัฒนธรรม

โดยเนื้อหากฎหมายใหม่ระบุว่า ผู้อพยพทุกคนจะต้องถูกควบคุมอยู่ภายในค่ายผู้อพยพบริเวณพรมแดนติดเซอร์เบีย ที่ถูกสร้างมาจากตู้คอนเทนเนอร์ขนสินค้า จนกว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะมีขึ้นในคำขอร้องลี้ภัยของพวกเขา

ซึ่งฮังการีตั้งใจที่จะปิดค่ายผู้อพยพทุกแห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้ยังพบว่า กฎหมายใหม่ยังได้ให้อำนาจตำรวจฮังการีในการขับผู้ใดก็ตามที่ไม่สามารถพิสูจน์สิทธิการอยู่ภายในฮังการีอย่างถูกกฎหมายให้ออกนอกประเทศกลับไปยังเซอร์เบีย ซึ่งพบว่านับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคมเป็นต้นมา มีผู้อพยพถูกพบตัวภายในรัศมี 8 กิโลเมตร ของพรมแดนได้ถูกส่งตัวกลับคืนไปยังเซอร์เบียทั้งหมด

เดอะการ์เดียน รายงานว่า มติการลงคะแนนในรัฐสภาฮังการีได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนสนับสนุน 138 ต่อเสียงคัดค้าน 6 และงดออกเสียง 22 โดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่ยกมือสนับสนุนนั้นส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาลฮังการี Fidesz และพรรคขวาจัดฮังการี Jobbik

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮังการีย้ำอย่างหนักแน่นต่อเสียงประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติว่า กลุ่มผู้อพยพทุกคนมีสิทธิที่จะเดินออกมาจากค่ายผู้อพยพฮังการีได้ทุกเมื่อ หลังจากที่คนเหล่านี้ได้ยกเลิกการร้องขอลี้ภัย และเดินทางกลับไปเซอร์เบียหรือโครเอเชีย ซึ่งเป็น 2 ชาติที่เป็นทางผ่านของผู้อพยพเข้าฮังการี

โดยคาดว่ากฎหมายใหม่ที่ได้รับการอนุมัติในวันอังคาร(7) จะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งตัวกฎหมายจะบังคับให้ผู้อพยพต้องทำการประทับลายนิ้วมือ และถ่ายภาพ และในส่วนผู้ที่ไม่ยินยอมให้ความร่วมมือ จะถูกขับออกนอกประเทศทันที

และในกฎหมายใหม่ยังอนุญาตให้รัฐบาลฮังการีสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ง่ายขึ้น เพื่อทำให้แน่ใจว่า จะป้องกันไม่ให้มีผู้อพยพสามารถเดินทางเข้าสู่อังการีและสหภาพยุโรปโดยไม่ได้รับอนุญาต

เจแปนไทม์สรายงานว่า แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลได้ออกแถลงการณ์ประณาม มติรัฐสภาฮังการีล่าสุดว่า “การส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทุกคนเข้าตู้คอนเทนเนอร์ไม่ใช่นโยบายผู้อพยพ แต่เป็นมาตรการที่พยายามหลีกเลี่ยงผู้อพยพ”

และยังประณามต่อว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของออร์แบนนั้นละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และยังเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกมาจัดการกับฮังการีให้เด็ดขาด “ต่อมาตรการที่ผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด”

ด้าน UNHCR ภายใต้องค์การสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ตำหนิฮังการีเช่นกัน โดยชี้ว่า กฎหมายใหม่ของฮังการีละเมิดพันธะสัญญาภายใต้กฎหมายสหภาพยุโรปและกฎหมายระหว่างประเทศ และจะส่งผลอย่างร้ายแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่อผู้หญิง เด็ก และผู้ชายที่ผ่านความทุกข์ยากมาอย่างสาหัส

ในขณะเดียวกันที่กรุงเบลเกรด ของเซอร์เบีย พบว่ามีผู้อพยพจำนวนมากรออยู่ภายในโกดังร้างเพื่อรอโอกาสเดินทางเข้ายุโรปตะวันตก ในขณะที่รัฐบาลฮังการีไม่ยอมรับในข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานผู้อพยพ

กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน กลุ่ม NGO การแพทย์ระบุว่า มีการทารุณที่รวมไปถึงการทุบตี และทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการละเมิดในรูปแบบต่างๆเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

โดย คริสโตเฟอร์ สโตร๊กส์(Christopher Stokes) ผู้อำนวยการทั่วไปของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนที่มีฐานอยู่ในเบลเยียมได้ออกมาเปิดเผยกับเอพีว่า “มีการทรมานเกี่ยวข้องกับการโบยตีเป็นอย่างน้อย การใช้แก๊สน้ำตาฉีดหรือพ่นในระยะใกล้ รวมไปถึงการฉีดใส่ดวงตา” และกล่าวต่อว่า ผู้อพยพ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอัฟกันและชาวปากีสถาน นั้นมีรายงานว่าถูกบังคับให้ถอดรองเท้าและเสื้อผ้าที่สวมอยู่ และตำรวจควบคุมพรมแดนออกคำสั่งให้เดินกลับเข้าไปยังฝั่งเซอร์เบียท่ามกลางอากาศหนาวจัดที่มีหิมะตก

ในปี 2015 ฮังการีได้ปิดพรมแดนตลอดยาวแนวร่วมกับเซอร์เบียด้วยกำแพง และในปี 2016 พบว่าฮังการียอมรับผู้อพยพให้อาศัยเพียงแค่ 425 คนจากจำนวนผู้ยื่นขอทั้งหมด 29,432 คน และในปีก่อนหน้านั้น ยอมตอบรับ 502 คน ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่เยอรมันรับตัวไป 890,000 คนในปี 2015 และอีก 280,000 คนในปี 2016

ความคิดเห็น

comments