รายงานที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพีเผยว่า แม้ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา การพัฒนามนุษย์จะมีความก้าวหน้าอย่างน่าประทับใจในหลายๆ ด้าน แต่ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพย ผู้ลี้ภัย และสตรี ยังคงเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
ยูเอ็นดีพีระบุว่า ปัจจุบันผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น มีเด็กมากขึ้นที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน และผู้คนจำนวนมาก็สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน แต่ยังคงมีความไม่เสมอภาคในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่ ทั้งนี้พลเมืองโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านคนนับจากปี 2533-2558 แต่คนมากกว่า 1 พันล้านยังต้องกระเสือกกระสนเพื่อหาทางให้หลุดพ้นจากการใช้ชีวิตอย่างยากจนสุดขีด คนราว 2.1 พันล้านเพิ่งจะได้รับการพัฒนาด้านสุขอนามัย และอีกกว่า 2.6 พันล้านเพิ่งจะได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำน้ำดื่ม
ในปี 2559 คน 1 ใน 9 ยังคงอดอยากหิวโหย และ 1 ใน 3 ประสบปัญหาทุพโภชนาการ ราว 18,000 คนล้มตายลงทุกวันเนื่องจากมลภาวะทางอากาศ และทุกๆ นาทีจะมีคน 24 คนที่ต้องถูกบังคับให้กลายเป็นคนพลัดถิ่น โดยกลุ่มที่การขาดโอกาสพื้นฐานถือเป็นเรื่องธรรมดาคือสตรี ชนกลุ่มน้อย ชนเผ่า คนพิการ และผู้อพยพ
ผู้อพยพจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกว่า 65 ล้านที่ถูกบังคับให้กลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องเผชิญกับสภาพปัญหาอันหนักหน่วง ทั้งจากการไม่มีงานทำ ปราศจากรายได้ ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และการให้บริการทางสังคมใดๆ ซึ่งเกินกว่าที่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะไปถึง ทั้งยังต้องเผชิญกับการคุกคาม ความเกลียดชัง และความรุนแรงจากประเทศผู้รับ
ความไม่เท่าเทียมทางเพศและการให้อำนาจกับสตรียังคงเป็นประเด็นหลักที่มีการถกเถียงกันในด้านการพัฒนา ขณะที่สตรียังคงถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้านสิทธิและโอกาส โดยในประเทศพัฒนาแล้ว เจ้าของที่ดินเพียง 10-20% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ก็ยังคงเป็นปัญหาเช่นกัน โดยคนร่ำรวยเพียง 1% ในโลกครอบครองทรัพย์สินมากถึง 46% ในโลกนี้