การจำหน่ายน้ำนมแม่จากผู้หญิงชาวกัมพูชาของบริษัทสหรัฐฯ ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์รูปแบบหนึ่ง องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ระบุ หลังมีรายงานว่า รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งระงับการส่งออกนมแม่
รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งห้ามส่งออกน้ำนมแม่ชั่วคราวในสัปดาห์นี้ โดยบริษัทแอมโบรเซีย แลบส์ ที่มีสำนักงานในรัฐยูทาห์ ได้รวบรวมน้ำนมแม่จากหญิงชาวกัมพูชาเพื่อนำไปขายในสหรัฐฯ ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์
บริษัทแอมโบรเซีย แลบส์ อ้างว่า เป็นกิจการแรกที่นำน้ำนมแม่จากต่างประเทศไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ และระบุว่า การดำเนินการของบริษัทเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่หญิงชาวกัมพูชาที่มีลูกอายุมากกว่า 6 เดือน
การระงับการส่งออกน้ำนมแม่มีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการได้รับสารอาหารจำเป็นของเด็กท้องถิ่นถูกเบียดบัง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำเป็นต้องกำหนดว่าน้ำนมมนุษย์ควรได้รับการจัดการในลักษณะเดียวกับอวัยวะมนุษย์หรือไม่
ยูนิเซฟ ยังคัดค้านการจำหน่ายน้ำนมแม่จากกัมพูชา ที่ภาวะทุพโภชนาการยังคงเป็นภัยคุกคามต่อเด็กในประเทศที่ยากจนแห่งนี้
“ธนาคารนมแม่ไม่ควรถูกดำเนินการด้วยการใช้ประโยชน์จากหญิงกัมพูชาที่อ่อนแอ และยากจนเพื่อผลกำไรและเพื่อการค้า น้ำนมแม่ถือเป็นเนื้อเยื่อมนุษย์เช่นเดียวกับเลือด และเมื่อเป็นเช่นนั้น การค้านมแม่ในกัมพูชาไม่ควรได้รับการสนับสนุน” โฆษกยูนิเซฟกัมพูชา กล่าว
แต่ทั้งแอมโบรเซีย แลบส์ และกระทรวงสตรีกัมพูชา ยังไม่ตอบรับคำร้องขอความคิดเห็นในประเด็นนี้
สื่อท้องถิ่นรายงานอ้างคำกล่าวของ บรอนสัน วู้ดส์ ผู้ก่อตั้งแอมโบรเซีย แลบส์ ว่า บริษัทเพียงแค่รวบรวมนมแม่จากแม่ที่ให้นมลูกตัวเองมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงที่ขายนมแม่ และยุติปัญหาการขาดแคลนนมแม่ทั่วโลก โดยมีมาตรการที่รับประกันว่าแม่ และเด็กมีสุขภาพดี
ด้านยูนิเซฟระบุว่า โครงการธนาคารนมแม่ควรมีเพียงวัตถุประสงค์เดียว คือ ช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงภายในประเทศ ไม่ใช่เพื่อการค้า