ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า กล่าวปกป้องการปราบปรามของทหารในรัฐยะไข่ ในวันจันทร์ (27) หลังสหประชาชาติให้คำมั่นที่จะสอบสวนข้อกล่าวหาว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่ากระทำการสังหาร และทรมานชาวมุสลิมโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญาเกือบ 75,000 คน ถูกบีบบังคับให้ต้องหลบหนีข้ามแดนไปในเขตของบังกลาเทศ หลังทหารเริ่มปฏิบัติการในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่ทหารพม่าอ้างว่าเพื่อค้นหาชาวโรฮิงญาที่บุกโจมตีด่านชายแดนตำรวจในเดือนตุลาคม
ผู้สอบสวนสหประชาชาติ เชื่อว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าอาจก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีมติที่จะส่งคณะค้นหาความจริงระหว่างประเทศเข้าตรวจสอบเพื่อเป็นการรับประกันความรับผิดชอบของผู้กระทำความผิด และความยุติธรรมสำหรับเหยื่อ
พม่าเผชิญต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานจากการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ที่ทางการพม่าปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา ด้วยกล่าวหาว่าคนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ในการกล่าวต่อผู้คนจำนวนมากที่รวมตัวกันในกรุงเนปีดอ เนื่องในวันกองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ได้กล่าวป้องปฏิบัติการของทหารที่นั่น
“ชาวเบงกาลีในรัฐยะไข่ไม่ใช่ชาวพม่า แต่เป็นผู้อพยพ การโจมตีก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเดือน ตุลาคม 2559 ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าว
รัฐบาลพลเรือนของพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ปฏิเสธการสืบสวนของสหประชาชาติ โดยระบุว่า ภารกิจการค้นหาความจริงระหว่างประเทศใดๆ ก็ตาม จะยิ่งทำให้ขัดแย้ง มากกว่าแก้ไขปัญหา
ทหารยังคงทรงอำนาจของประเทศยังคงปกครองพม่าด้วยความเข้มงวด และสร้างชื่อเสียงอื้อฉาวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดำเนินการต่อผู้ก่อความไม่สงบชาติพันธุ์
ชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดถูกปฏิเสธการเป็นพลเมือง และถูกบังคับให้อยู่ในสภาพที่เหมือนกับการแบ่งแยก ขณะเดียวกัน ชาวโรฮิงญากว่าแสนคนถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในค่ายพักแรมสำหรับผู้พลัดถิ่นนับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนในปี 2555
ในเดือนนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ ภายใต้การนำของ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้แนะนำให้ทางการปิดค่ายผู้พลัดถิ่น และยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้