นางอองซาน ซูจี ผู้นำพม่า กล่าวว่า การกำจัดชาติพันธุ์เป็นคำที่รุนแรงเกินไปในการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC) รายงานวันพูธ (5)
นางอองซานซูจี กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า การกำจัดชาติพันธุ์เป็นคำอธิบายที่รุนแรงเกินไปสำหรับใช้ในการกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ และเธอไม่คิดว่ามีการกำจัดชาติพันธุ์เกิดขึ้น หลังถูกถามว่าตัวเธอจะถูกจดจำในฐานะเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพที่ละเลยการกำจัดชาติพันธุ์ในประเทศตัวเองหรือไม่
ซูจี กำลังเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติถึงการจัดการของรัฐบาลต่อวิกฤตในรัฐยะไข่
การโจมตีด่านชายแดนตำรวจเมื่อเดือน ตุลาคม 2559 ถูกทหารพม่าใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาที่ส่งผลทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 75,000 คน อพยพหลบหนีตายไปยังบังกลาเทศ
รายงานของสหประชาชาติที่ออกเผยแพร่เมื่อต้นปี ระบุว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าได้ก่อเหตุสังหารหมู่ และข่มขืนชาวโรฮิงญาระหว่างการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ที่อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ฝ่ายทหารได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น โดยอ้างว่า ทหารปฏิบัติการปราบปรามเหตุไม่สงบอย่างถูกต้องตามกฎหมายพม่า
“สิ่งที่เรากำลังพยายามที่จะบรรลุคือความปรองดองไม่ใช่การประณาม” ซูจี กล่าวต่อ BBC พร้อมกล่าวเสริมระบุคิดว่ามีความเกลียดชังมุ่งร้ายกันเกิดขึ้นที่นั่น ที่ยังมีมุสลิมฆ่ามุสลิมด้วยกันเอง นี่ไม่ใช่เรื่องการกวาดล้างเผ่าพันธุ์อย่างที่พวกคุณใช้ แต่เป็นเรื่องของคนที่อยู่ตรงข้ามกันจากการแบ่งแยกที่เกิดขึ้น ซึ่งเรากำลังพยายามที่จะขจัดการแบ่งแยกแตกต่างนี้
ซูจีกล่าวอีกว่า เธอไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดเหตุโจมตีในรัฐยะไข่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่คิดว่าอาจเป็นความพยายามที่จะทำลายการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชนกลุ่มน้อยนางซูจียังปฏิเสธว่ากองทัพไม่ได้มีอิสระที่จะข่มขืน ปล้นทรัพย์และทรมานใครได้ แต่ทหารมีอิสระที่จะโจมตีต่อสู้ ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนด้านการทหารถืองานของกองทัพ
ต่อประเด็นการต้องอพยพหนีภัยความรุนแรงออกจากประเทศไปของชาวโรฮิงญา ซูจีกล่าวว่ายินดีต้อนรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ พร้อมให้หลักประกันว่า หากกลับมา พวกเขาจะปลอดภัย
ขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เป็นนักรบโรฮิงญาชื่อ “อะตา อัลลอฮฺ” ได้กล่าวผ่านวิดีโอคอล จากสถานที่ที่ไม่เปิดเผย กับสำนักข่าวต่างชาติ ระบุว่ากลุ่มของตนไม่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ และจะสู้จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายแม้คนจะต้องตายเป็นล้านก็ตาม
“หากเราไม่ได้สิทธิของเรา ไม่ว่าจะ 1 ล้านคน 1.5 ล้านคน หรือชาวโรฮิงญาทั้งหมดจำเป็นต้องตาย เราก็จะตาย เราต้องได้สิทธิของเรา เราจะสู้กับรัฐบาลทหาร”
“ในปี 2555 หลายสิ่งเกิดขึ้น และพวกเขาฆ่าเรา เราเข้าใจในเวลานั้นว่าพวกเขาจะไม่ให้สิทธิแก่เรา” เขากล่าว
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า อะตา อัลลอฮฺ ที่ปรากฏในคลิปวิดีโอหลายชิ้นซึ่งอ้างความรับผิดชอบเหตุการณ์โจมตีด่านชายแดนตำรวจเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เป็นหัวหน้ากลุ่ม
เขากล่าวว่า หลายสิบปีของความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของคนเหล่านั้นส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนเข้าร่วมกับเขาหลังเดินทางกลับยะไข่ ภายหลังจากที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ และซาอุดีอาระเบียหลายปี
“เราไม่สามารถเปิดไฟตอนกลางคืน เราไม่สามารถเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งระหว่างวัน ทุกที่มีแต่ด่านตรวจ นั่นไม่ใช่วิธีที่มนุษย์ใช้ชีวิต” เขากล่าวเสริม
Arakan Rohingya Salvation Army ชื่อของกลุ่มนักรบโรฮิงญาภายใต้การนำของเขาไม่มีความเกี่ยวข้องหรือได้รับการสนับสนุนจากภายนอกประเทศ
“เราไม่มีกลุ่มที่ช่วยเหลือเราอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจากที่นี่ หรือต่างประเทศ เราอยู่รอดด้วยการขายวัวควาย” เขากล่าว
“ประชาชนตกอยู่ในปัญหา ทหารโหดร้ายรุนแรงต่อคนในชุมชนโรฮิงญา ซูจี ควรพูดหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อคนเหล่านั้นในฐานะเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ แต่หากเธอพยายามที่จะทำอะไรเพื่อเรา ทหารจะทำบางอย่างกับรัฐบาลของเธอ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอไม่ปกป้องเรา”
การออกมาสัมภาษณ์ดังกล่าวส่งผลให้สถานการณ์ที่เบาลงในพื้นที่ยะไข่ กลับมาระอุอีกครั้ง โดย ซอ เต โฆษกของประธานาธิบดีพม่ากล่าวตอบคำถามของรอยเตอร์ “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”
“หากพวกเขาโจมตีเรารุนแรง เราจะตอบโต้ในแนวทางเดียวกัน ไม่มีที่ใดในโลกที่จะยินยอมต่อความรุนแรง” ซอ เตกล่าว พร้อมอ้างอีกว่า รัฐบาลเรียกร้องให้ประชาคมโลกพิจารณาความเป็นมาของกลุ่ม ซึ่งเชื่อมโยงกับองค์กรก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง