ศาลแขวงนครย่างกุ้ง ตัดสินโทษจำคุกเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้แก่รัฐบาลของนางอองซานซูจี เป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศบนเฟซบุ๊ก
คำตัดสินของศาลครั้งล่าสุดนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงการจำกัดเสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็นในประเทศที่ททหารยังคงมีอำนาจกว้างขวาง แม้สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารไปแล้วก็ตาม
เมียว ยาน หน่อง เต็ง นักวิจัยที่ทำงานให้แก่พรรครัฐบาลของนางซูจี ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือน ตุลาคม จากการแสดงความเห็นเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ลาออก สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีด่านชายแดนตำรวจในรัฐยะไข่
เหตุโจมตีดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิบัติการตอบโต้ของทหารเพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งผู้สืบสวนสหประชาชาติเชื่อว่า อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
เมียว ยาน หน่อง เต็ง โพสต์เฟซบุ๊กไม่กี่วันหลังเกิดเหตุโจมตีเดือน ตุลาคม ว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย เป็น “คนหน้าไม่อาย” ที่ปล่อยให้การโจมตีเกิดขึ้น และเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง
จำเลยอายุ 43 ปี รายนี้ ปรากฏตัวที่ศาลเพื่อฟังคำตัดสินด้วยอาการสงบ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารขนาบข้าง แต่ขณะออกจากศาล หน่อง เต็ง ยังได้วิพากษ์วิจารณ์การกุมอำนาจต่อเนื่องของกองทัพ แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ชนะการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
ภายใต้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเผด็จการทหารร่างขึ้น กองทัพยังครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภา รวมทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน
“เห็นได้ชัดว่าเรามีสองกลุ่มที่ปกครองพม่า ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเราเท่านั้น” หน่อง เต็ง กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
เมียว ยาน หน่อง เต็ง ถูกขังคุกตั้งแต่โดนจับกุมตัว และจะเป็นอิสระในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเนื่องจากรับโทษไปแล้วระยะหนึ่ง
การฟ้องร้องดำเนินคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นประมาททางออนไลน์ เพิ่มจำนวนมากขึ้นนับตั้งแต่พรรค NLD เข้ากุมอำนาจบริหารประเทศในเดือน มีนาคม 2559 โดยมุ่งเป้าทั้งผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ และรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่
กฎหมายที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลชุดก่อนหน้า เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในภาคโทรคมนาคมของประเทศ แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่า กฎหมายฉบับเดียวกันนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามเสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น และการวิจารณ์รัฐบาล
ในปี 2559 มีการฟ้องร้องดำเนินคดีภายใต้กฎหมายฉบับนี้อย่างน้อย 46 คดี เมื่อเทียบกับช่วงระหว่างที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงพรรค NLD เข้าครองอำนาจ กลับมีการดำเนินคดีเพียงแค่ 7 คดีเท่านั้น