รัสเซียกลายเป็นประเทศที่ทุ่มเงินเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2016 แม้ประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำและมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกก็ตาม ขณะที่ยอดงบประมาณกลาโหมที่รัฐบาลทั่วโลกใช้จ่ายรวมกันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ที่เผยแพร่วันจันทร์ (24 เมษายน) ระบุว่า มอสโกจ่ายงบอุดหนุนกองทัพไปมากถึง 69,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 เพิ่มขึ้น 5.9% จากปี 2015 และถือเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงที่สุด นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย
“การเพิ่มงบกลาโหมซึ่งกลายเป็นภาระหนักอึ้งต่อเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจรัสเซียกำลังย่ำแย่หนักจากผลของราคาน้ำมันและก๊าซที่ตกต่ำ และยังถูกตะวันตกคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2014 (เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครน)” SIPRI ระบุ
ซาอุดีอาระเบียเคยเป็นประเทศที่ใช้จ่ายงบการทหารมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2015 ทว่าปีล่าสุดนี้กลับหล่นมาอยู่อันดับ 4 เนื่องจากตัวเลขลดลง 30% เหลือเพียง 63,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “แม้ว่าซาอุฯจะยังคงพัวพันกับสงครามในภูมิภาคอยู่ก็ตาม”
“รายได้จากการขายน้ำมันที่ลดลง บวกกับปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจำเป็นต้องลดงบประมาณกองทัพลง” แนน เทียน นักวิเคราะห์ของ SIPRI อธิบาย พร้อมระบุว่า งบกลาโหมของซาอุฯลดลงอย่างฮวบฮาบยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในช่วงระหว่างปี 2015-2016
สหรัฐฯ ยังคงรั้งแชมป์ประเทศที่ใช้งบด้านการทหารสูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.7% ในช่วงปี 2015-2016 มาอยู่ที่ 611,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีนก็อัดฉีดงบส่วนนี้เพิ่มขึ้น 5.4% เป็น 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังถือว่าเพิ่มน้อยกว่าปีก่อนๆ
SIPRI ชี้ว่า การที่สหรัฐฯ เพิ่มงบกองทัพในปี 2016 “อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการสิ้นสุดแนวโน้มลดรายจ่ายกลาโหม” ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 รวมถึงแผนถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานและอิรัก
“รูปแบบการใช้จ่ายในอนาคตยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากการเมืองในสหรัฐฯ ยังไม่นิ่ง” โอด เฟลอรองต์ ผู้อำนวยการโครงการค่าใช้จ่ายด้านอาวุธและการทหาร (AMEX) ของ SIPRI แถลง
ยุโรปตะวันตกใช้จ่ายงบกลาโหมเพิ่มขึ้น 2.6% ในปี 2016 ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่อง หลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายได้ลงมือโจมตีเมืองสำคัญๆ ไม่หยุดหย่อนมาตั้งแต่ปี 2015
กลุ่มประเทศยุโรปตอนกลางใช้จ่ายงบด้านการทหารเพิ่มขึ้น 2.4% ในปีที่แล้ว “ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความหวาดระแวงรัสเซีย” ไซมอน เวเซมาน นักวิจัยอาวุโสของ SIPRI ให้ความเห็น