พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เชื่อมั่นเวทีสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติจากปราชญ์มุสลิมโลก ที่ ม.อ.ปัตตานี เป็นการระดมแนวคิดการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสร้างเครือข่ายทางการศึกษาในการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ
เมื่อเช้าวันจันทร์ (24 กรกฎาคม) ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 37 ประเทศ จำนวน 500 คน ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย, บาห์เรน, บรูไน, อียิปต์, อังกฤษ, กินี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิรัก, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, คูเวต, ลาว, ไลบีเรีย, ลิเบีย, จีน, มาซิโดเนีย, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, โมร็อกโก, ไนจีเรีย, โอมาน, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, กาตาร์, รัสเซีย, ซาอุดิอารเบีย, ศรีลังกา, ซูดาน, ติมอร์-เลสเต, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ยูกันดา, ยูเครน, เยเมน, สหรัฐอเมริกา, และไทย มีการนำเสนอบทความจากผู้นำประเทศมุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียงอาทิ เชคอุมัร อุบัยดฺ ฮาซานะฮฺ อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์, เชคอับดุลการีม ฆอศอวะนะฮฺ ประธานศาลฎีกาสูงสุด ประเทศจอร์แดน, ดร.มุหัมมัด อะฮฺมัด มุซัลลัม อัล-คอลัยละฮฺ ผู้นำสูงสุดในศาสนาอิสลาม ประเทศจอร์แดน, ดร.อะหมัด บิน หะมัด ญีลาน ที่ปรึกษา เลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย, ดร.อับดุลอาซีซ อุสมาน อัล-ตูวัยญีรีย์ อธิบดีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก, ศ.ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก สาธารณรัฐกินี, ดร.ซอและฮฺ สุลัยมาน อัล-วูฮัยบีย์ เลขาธิการสภายุวมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี, ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี, ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นต้น
พลเอกสุรยุทธ์จุลานนท์ องคมนตรี ประธานเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข กล่าวว่า การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้งสามครั้งที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่สำคัญในการตอบสนองความท้าทายของการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน อันที่จะสร้างความสมดุลระหว่างอิสลามศึกษากับโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยรูปแบบการศึกษาอิสลามจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในแนวคิดและรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีการนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการศึกษาอิสลาม การสร้างปัจเจกชนและสังคมแห่งสันติสุข และการวิเคราะห์สังเคราะห์ประสบการณ์ของกลุ่มประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในการนำแนวคิดสู่การปฏิบัติ อันที่จริงแล้วสิ่งคุกคามสันติสุขโลกมิใช่อิสลาม แต่เป็นความรุนแรงอันเกิดจากการขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน และเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากหลักการอิสลามที่ถูกต้อง สถาบันการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษา รวมทั้งปราชญ์และผู้รู้จะต้องพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาและจัดระบบการเรียนการสอนให้เป็นแนวทางเพื่อขจัดปัญหาขัดแย้งในทุกระดับโดยใช้อัลกุรอานเป็นบรรทัดฐาน
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เกิดความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่จะพัฒนาสังคมมนุษย์ให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง บทบาทสำคัญของสถาบันศึกษาทางด้านอิสลามศึกษา คือการสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างไรก็ตามสถาบันที่มีการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษาถูกมองว่าเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านรัฐหรือกลุ่มหัวรุนแรง ในความเป็นจริงแล้วศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติสอนให้มนุษย์มีความรักต่อกันและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ สถาบันการศึกษาทุกแห่งมีเป้าหมายร่วมกันที่จะระงับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สร้างพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้การพัฒนาจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเมื่อสังคมมีความสันติอย่างยั่งยืนเท่านั้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญกับการสร้างบัณฑิตเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ดังนั้นหลักสูตรและการเรียนการสอนด้านอิสลามจะต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้หลักการศาสนาที่เหมาะสมกับความท้าทายในความทันสมัยของโลกปัจจุบัน การสัมมนาในครั้งจะทำให้เกิดหลักสูตรแนวทางการพัฒนารายวิชา และรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมแห่งการศึกษาอิสลาม เพื่อสนองแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง “สัมมนาอิสลามนานาชาติครั้งที่ 4” ม.อ.ปัตตานีแถลงจัดใหญ่ นักวิชาการ 40 ประเทศทั่วโลกร่วม
พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ระบุเวทีสัมมนานานาชาติการศึกษาอิสลามเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สังเคราะห์แนวคิดสู่การพัฒนาและสันติสุขยั่งยืน pic.twitter.com/ZI2V1Luicn
— Muhammad Rusdy SH. (@Rusdy_MCOT) 24 กรกฎาคม 2560