เผย 10 เดือน 3 จ.เหนือยึดยาบ้าได้ 134 ล้าน-ไอซ์ยึดเพิ่ม 340%

เปิดสถิติยอดจับยานรก 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ แค่ 10 เดือน ยอดยึดยาบ้าเพิ่มเท่าตัวเป็นกว่า 134 ล้านเม็ด ไอซ์มากขึ้นกว่า 340% ฝ่ายความมั่นคงชี้ “ว้า” ใหญ่สุด-ผลิตมากสุด แถมมีกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยสั่งหัวเชื้อ-ผงยาบ้า อัดเม็ด-ตีตราส่งเข้าไทยอีกเพียบ

วันพุธ (16 สิงหาคม) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร., นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส., นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย, พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบช.ปส., พล.ต.ต.ภานะเดช บุญเรือง รอง ผบช.ภ.5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวที่ด่านศุลกากรแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ติดสะพานข้ามลำน้ำสายชายแดนไทย-พม่า แห่งที่ 2 เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของหน่วยงานต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา

พล.ท.ธนา จารุวัต แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะ ผบ.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศป.ปส.ชน.) ระบุว่า สถานการณ์ที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้าผ่านชายแดนภาคเหนือมากจนล้นตลาด ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจยึดทั้งยาบ้า ยาไอซ์ ฯลฯ ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 ถึงวันที่ 3 ก.ค. 2559 ตรวจยึดยาบ้าได้ 68,394,570 เม็ด, ยาไอซ์ 876.56 กิโลกรัม และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 – วันที่ 3 ก.ค. 2560 ตรวจยึดยาบ้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 134,399,290 เม็ด, ยาไอซ์ 3,857.35 กิโลกรัม เฉพาะยาบ้าเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 66,404,720 เม็ดคิดเป็น 77.1% และยาไอซ์เพิ่มขึ้น 2,980.79 กิโลกรัมคิดเป็น 340.1% หรือเกือบ 4 เท่าตัว

สำหรับช่องทางการลักลอบนำเข้า ยังคงอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ถึงร้อยละ 96.8 เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศ โดยเฉพาะ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีปัญหาการนำเข้ามากที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้เครือข่ายผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คือ กลุ่มมูเซอ และอาข่าในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเชื่อมโยงกับคนไทยที่มีหมายจับคดียาเสพติด แต่หลบหนีเข้าไปอยู่ในเขต จ.ท่าขี้เหล็ก และ จ.เมืองสาด ประเทศพม่า ตรงข้ามกับสองอำเภอของไทยดังกล่าว จากนั้นก็มีการจัดการด้านการตลาดหลากหลายวิธีเพื่อพยายามส่งยาเสพติดเข้ามาประเทศไทย

ขณะที่ทาง ศป.ปส.ชน.ที่ดูแลพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ตอนในต่อเนื่อง จำนวน 21 อำเภอ เขต 3 จังหวัดดังกล่าวจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสกัดกั้นและปราบปรามอย่างหนัก รวมทั้งสร้างชุมชนเข้มแข็งให้ชุมชนชายแดน เช่น บ้านห้วยส้าน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยฟื้นฟูและจัดระเบียบเพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ หลังจากที่มีการจับกุมเครือข่ายนายเล่าต๋า แสนลี่ ไปแล้ว จัดกิจกรรมตามกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนต่างๆ บำบัดรักษาผู้เสพด้วยระบบสมัครใจ 6 รุ่นจำนวน 600 คน

นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการต่างๆ คือ แผนยุทธการที่ 4/60 -ศป.ปส.ชน.ร่วมกับฝ่ายพม่า และหน่วยงานไทย เช่น ป.ป.ส., ตำรวจ ปส., กองกำลังผาเมือง, ตำรวจภูธรภาค 5, ฝ่ายปกครอง รวมถึงฝ่ายเมียนมาคือ จ.เมืองสาด และ จ.ท่าขี้เหล็ก ปราบปรามยาเสพติดทั้ง 2 ฝ่าย, แผนปฏิบัติการชัยยะสยบไพรี 60/5, แผนปฏิบัติการทำลายเครือข่าย, ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จ.เชียงราย ปี 2558-2562, แผนปฏิบัติการลุ่มแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ชาติ เป็นต้น

ส่วนฝ่ายพม่านั้นต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยเป็นอย่างดี โดยในรอบปีที่ผ่านมาทางการพม่าตรวจยึดยาบ้ามากถึง 59 ล้านเม็ด, เศษและยาบ้าผง 117 กิโลกรัม, เฮโรอีน 638 กิโลกรัม และยาไอซ์ 132 กิโลกรัม ซึ่งมีแนวโน้มที่มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับประเทศไทย

ล่าสุดหลังมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-พม่า หรืออาร์บีซี ครั้งที่ 31 ที่ภูเก็ต เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ฝ่ายพม่ามีการจับกุมยาเสพติดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ โดยจับกุมเครือข่ายผู้ผลิตกลุ่มมูเซอที่ จ.ท่าขี้เหล็ก และยึดของกลางยาบ้าได้กว่า 18 ล้านเม็ด เฮโรอีน 9 กิโลกรัม ยาไอซ์ 202 กิโลกรัม และเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นเป็นจำนวนมาก เมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของประเทศเมียนมาในการร่วมกันปราบปราม

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดหลักในปัจจุบัน ยังคงเป็นกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ในเขตปกครองพิเศษที่ 2 รัฐฉานตอนเหนือ, กองกำลังพันธมิตรชาติประชาธิปไตยในเขตปกครองพิเศษที่ 4 (เมืองลา) ติดชายแดนจีน และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (โกกั้ง) โดยแต่ละกลุ่มมีกองกำลังติดอาวุธคุ้มกันจำนวนมาก จึงเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าไปจัดการ และทำให้กลุ่มเหล่านี้มีศักยภาพในการผลิตยาเสพติด โดยสังเกตจากมาตรฐานของส่วนผสมยาเสพติดที่ยึดได้ไม่มีเปลี่ยนแปลง และสารตั้งต้นก็ลักลอบไปจากประเทศจีน เวียดนาม ผ่าน สปป.ลาว และไทย

นอกจากนี้ยังพบกลุ่มผู้ผลิต หรืออัดเม็ดยาบ้าในเขตรัฐฉานตอนใต้ติด 3 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยนำหัวเชื้อและผงยาบ้ามาจาก UWSA แล้วนำมาประทับตราสัญลักษณ์บนห่อยาบ้าเป็นของกลุ่มต่างๆ เช่น สัญลักษณ์เลข 1, 2, 12 มาจากแหล่งผลิตเมืองทาใหม่ของกลุ่มว้าใต้, สัญลักษณ์เลข 999 สีแดง มาจากแหล่งผลิตปูนาโก่ของกลุ่มมูเซอแดงเครือข่ายของนายจะงอย และเลข 999 สีน้ำเงินของนายจะลอโบ่, สัญลักษณ์ Y1 มาจากแหล่งผลิตบ้านน้ำปุ๋งของ พ.ท.ยี่เซ กลุ่มมูเซอ

ทั้งยังมีแหล่งผลิตน้ำรวกของกลุ่มจีแอลจี, แหล่งผลิตบ้านหนองเทาของกลุ่มว้าตระกูลเหว่ย, แหล่งผลิตของกลุ่มอาข่า/เซเว่นคลับ ซึ่งมี 7 หุ้น 3 ตระกูลหลักคือ ยางเปียง, มาเยอะ หรือมาเยาะ และหม่อโป๊ะกู่, กลุ่มม้าบิน ซึ่งเป็นรุ่นลูกหลานของเซเว่นคลับ และกลุ่มอาข่าบ้านผาขาว

รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันทางตำรวจยังได้แถลงผลปฏิบัติการชัยยะสยบไพรี 60/5 “เครือข่ายสามเหลี่ยมทองคำ” ระหว่างวันที่ 5-19 ส.ค.ว่าสามารถจับกุมผู้ต้องหารายใหญ่ได้ 3 คดี โดยคดีแรกของกลางเป็นยาบ้า 160,000 เม็ด รถกระบะ 1 คัน ผู้ต้องหาชื่อนายบุญชัย ชาติไทยเจริญ อายุ 29 ปี, นายเทียนชัย ชัยเจริญเวียงฟ้า อายุ 31 ปี และนายวิระ สว่างยอดฟ้าเจริญ อายุ 25 ปี

คดีที่ 2 ของกลางเป็นยาบ้า 880,000 เม็ด ยาไอซ์ 1 กิโลกรัม ผู้ต้องหาชื่อนายสิทธิโชค บริบูรณ์ อายุ 28 ปี, นายสหภาพ ปิยะรัตน์ อายุ 24 ปี, นายศิวาร สิงขุนทด อายุ 20 ปี และนายวรวงศ์ ทาหอม อายุ 20 ปี

คดีสุดท้ายมียาไอซ์น้ำหนัก 50 กิโลกรัม รวมของกลางทั้งหมดมียาบ้า 1,040,000 เม็ด ยาไอซ์ 51 กิโลกรัม

นอกจากนี้ได้ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 50 จุด จับกุมผู้ต้องหาตามหายจับได้ 15 ราย ผู้ต้องหาใหม่ 18 ราย ตรวจยึดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบ 41 รายการ มูลค่า 533 ล้านบาท โดยเป็นรถยนต์ 15 คัน รถจักรยานยนต์ 3 คัน มูลค่า 15,432,000 บาท โฉนดที่ดิน 8 โฉนดที่ดิน มูลค่า 508,122,035 บาท และอื่นๆ เช่น ทองคำรูปพรรณ ธนบัตรไทย นาฬิกาข้อมือ ฯลฯ มูลค่า 9,476,416 บาท

ด้านนายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ จ.เชียงราย สามารถสกัดยาเสพติดเป็นยาบ้าได้กว่า 43,615,256 เม็ด เฮโรอีน 170 กิโลกรัม ยาไอซ์ 186 กิโลกรัม ทางจังหวัดได้มีการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งและบำบัดฟื้นฟูผู้เสพได้ 5 รุ่นๆ ละ 60 คน รวม 300 คน

ที่มา MGR Online

ความคิดเห็น

comments